ย้อนคดีฉาว ธัมมชโยยักยอกทรัพย์ธรรมกาย

ในจดหมายของปัญญาชนและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีถึงนายกรัฐมนตรี

นอกจากขอให้ระงับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) และ สมาคมพุทธศาสตร์สากล ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระมหามังคลาจารย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งวัดพระธรรมกายเพื่อให้ สพฐ.ส่งเสริมให้ครูและนักเรียนในสังกัดเข้าโครงการยกระดับมาตรฐานศีลธรรมเชิงบูรณาการจำนวนถึง 10.7  ล้านคนเนื่องจากมีข้อเคลือบแคลงสำคัญหลายประการแล้ว


ในจำนวนข้อเรียกร้องหลายข้อนั้น ข้อหนึ่งคือขอให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสทางการเงินของพระในวัดพระธรรมกาย และสถาบันหรือโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายทั้งหมด โดยเฉพาะการสอบสวนถึงการที่อัยการถอนคดีความของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเพื่อตัดตอนการพิจารณาคดีของศาล ว่า มีเงื่อนงำอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่


เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาของข้อเรียกร้องดังกล่าว จึงขอนำข้อเท็จจริงในการถอนฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549 มานำเสนอ


ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนายสุนพ กีรติกุลผู้พิพากษาอาวุโส เจ้าของสำนวน และองค์คณะออกนั่งบัลลังก์ พิจารณาคดีดำ หมายเลขที่ 11651/2542และคดีดำหมายเลข 14735/2542 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระราชภาวนาวิสุทธิ์หรือพระไชยบูลย์ ธัมมชโย หรือนายไชยบูลย์ สิทธิผล อายุ 62 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และนายถาวร พรหมถาวร อายุ 57 ปี ลูกศิษย์คนสนิท เป็นจำเลยที่ 1-2ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยสุจริต และเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น


โดยร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย จำนวน 6.8 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระอ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร จำเลยที่ 2 และเงิน จำนวน 29,877,000บาทไปซื้อที่ดินเนื้อที่ 902 ไร่เศษ ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร และ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 เช่นกัน


ทั้งนี้ เรืออากาศโทวิญญ วิญญกุล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม  2549 สรุปว่า ตามที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 4  ตุลาคม 2542 และวันที่ 16 ธันวาคม. 2542 ตามลำดับโดยกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันกระทำผิด


โจทก์ขอเรียนว่าการดำเนินคดีนี้ สืบเนื่องจากจำเลยที่ 1 กับพวกไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่มีว่า ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำสั่งสอนโดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง เป็นการทำให้พระสงฆ์ที่หลงเชื่อคำสอนบิดเบือนแตกแยกออกไปกลายเป็นสองฝ่าย มีความเข้าใจความเชื่อถือ พระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาทำให้พระสงฆ์แตกแยกเป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบัน และอนาคตที่หนัก


ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษแต่เป็นการทำที่ถูกต้องคือ ต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันที (5 เมษายน .2542)

ในชั้นต้นหากมิใช่มีเจตนาถือเอาสมบัติของวัดเป็นของตนจริง ๆ แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะที่เป็นพระคืนให้แก่วัดก็แสดงชัดแจ้งว่า ต้องอาบัติ ปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระ ปลอมเป็นพระด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครองทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ให้พระพุทธศาสนา


คำร้องถอนฟ้องระบุต่อไปว่า บัดนี้ ข้อเท็จจริงในการเผยแพร่คำสอนปรากฏจากอธิบดีกรมการศาสนาผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เลขาธิการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะภาค 1 ว่า ในปัจจุบันจำเลยที่ 1กับพวก ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎก และนโยบายของคณะสงฆ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกิจการของศาสนาทั้งของคณะสงฆ์ ภาครัฐ และเอกชนจำนวนมาก


สำหรับในด้านทรัพย์นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1กับพวกได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน 959,300,000 บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว


"ประกอบกับขณะนี้บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่าเห็นว่า หากดำเนินคดีจำเลยทั้งสองต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักรโดยเฉพาะพระภิกษุ สามเณรและประชาชนทั้งในและต่างประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ และไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ถอนคดีนี้ ดังนั้น โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ทุกข้อกล่าวหาขอศาลโปรดอนุญาต" คำร้องระบุ


ศาลได้สอบถามว่าจำเลยทั้งสองจะคัดค้านหรือไม่ จำเลยทั้งสองแถลงว่า ไม่คัดค้านพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง

ก่อนศาลมีคำพิพากษา เมื่อจำเลยทั้งสองคนไม่คัดค้านที่โจทก์ถอนฟ้องจึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.35จึงอนุญาตให้ถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง และจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความของศาลอาญา


นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อธิบดีอัยการคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่าการถอนฟ้องคดีก่อนศาลจะมีคำพิพากษาสามารถทำได้ ซึ่งในอดีตอัยการสูงสุด เคยยื่นคำร้องแล้วเช่นกัน ความผิดพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ  คดีกบฏผู้ก่อการร้าย


อย่างไรก็ดีสำหรับยักยอกทรัพย์วัดพระธรรมกายที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญามีเพียง 2 คนเท่านั้นคงเหลือสำนวนคดียักยอกทรัพย์ที่รอการสั่งคดีในชั้นอัยการอีก 3 สำนวน ประกอบด้วย


1.คดีที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ นางกมลศิริ คลี่สุวรรณ และนายมัยฤทธิ์ ปิตะวนิค ลูกศิษย์คนสนิท เป็นผู้ต้องหาซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเบียดบังเงินวัด จำนวน 95 ล้านบาทเศษไป ซื้อที่ดิน


2.คดีที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์นางสงบ ปัญญาตรง นายมัยฤทธิ์ ปิตะวนิค และนายชาญวิทย์ ชาวงษ์ ลูกศิษย์คนสนิท เป็นผู้ต้องหา เบียดบังเงินจำนวน 845 ล้านบาทเศษ


และ 3. คดีที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ร่วมกับนายเทิดชาติ ศรีนพรัตน์ นายมัยฤทธิ์ปิตะวนิค และนางอมรรัตน์ สุวิพัฒน์ หรือสีกาตุ้ย ลูกศิษย์คนสนิท ผู้ต้องหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารและสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


นายอรรถพลกล่าวว่า เมื่ออัยการสูงสุดมีนโยบายให้ถอนฟ้อง การสั่งคดีของพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5

ก็จะต้องมีความเห็นให้ยุติการสั่งคดีไว้เนื่องจากการดำเนินคดีจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 78 และ 128โดยเมื่อยุติการสั่งคดีก็ต้องถือว่าคดีนี้สิ้นสุดลงตามกระบวนการทางกฎหมายทันทีซึ่งจำเลยทั้งสองได้คืนที่ดินและเงินที่ก่อความเสียหายรวมมูลค่า 959,300,000 บาทคืนให้แก่วัดพระธรรมกายแล้ว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์