คนกรุงสยอง "จตุจักร" แหล่งแพร่เชื้อพิษสุนัขบ้า หลัง ขรก.สธ.สังเวยโรคกลัวน้ำ เผยผู้ตายเพาะหมาขายที่ตลาดนัด ลูกค้าซื้อไปอื้อ สธ.ตามตัวจ้าละหวั่น สั่งเช็ควัคซีนที่ผู้ตายฉีดให้ตัวพาหะ สงสัยของปลอม กทม.ส่งทีมลงพื้นที่สกัดระบาดหวั่นลามถึงร้านอื่นๆ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกประกาศเตือนประชาชนที่ซื้อสุนัขจาก ร้าน "เทคแคร์ เพ็ท ช็อป" (TAKECARE PET SHOP) ตลาดนัดจตุจักร โครงการ 15 ซอย10/5 ไปเลี้ยงที่บ้าน รวมทั้งให้ตรวจสอบว่า มีลูกค้ากี่ราย เป็นใครบ้างที่ซื้อสุนัขจากร้านนี้ เพราะจะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเร่งด่วน
โดยให้เฝ้าระวังพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง หากพบมีอาการผิดปกติ ตัวแข็งให้แจ้งสายด่วน กทม.1555 หรือ 02 345 3311 ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ กทม.ได้รับรายงานว่า ข้าราชการหญิงสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของร้านดังกล่าวเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากถูกสุนัขที่เลี้ยงไว้กัด
พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ข้าราชการหญิงรายดังกล่าว มีอาชีพเสริม เพาะพันธุ์สุนัขจำหน่าย
จากการสำรวจบ้านพัก พบว่า มีสุนัขป่วยและตายไปหลายตัว ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจำหน่ายออกไปบ้างแล้ว ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังอาการสามีและบุตรของผู้เสียชีวิต ล่าสุด กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในรัศมี 5 กิโลเมตร และได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ให้จัดทำเส้นทางของสุนัขก่อนมาถึงตลาดจตุจักร
นอกจากนี้ ได้สั่งตรวจสอบวัคซีนที่ผู้เสียชีวิตซื้อฉีดให้สุนัข ขอให้สามีส่งตัวอย่างให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบว่าเป็นของปลอมหรือไม่ อีกทั้ง กทม.จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบร้านขายสุนัข ไม่เฉพาะในตลาดจตุจักรเท่านั้น แต่รวมถึงร้านขายสุนัขในห้างสรรพสินค้าหลายๆ แห่งด้วย
จตุจักรสะเทือน!! ผู้ค้าหมาติดเชื้อพิษสุนัขบ้าตาย สธ.ตามตัวลูกค้าหวั่นแพร่
ด้าน นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ.กล่าวว่า เพิ่งได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว
ผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชำนาญการ สังกัดกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ถูกสุนัขที่เลี้ยงไว้กัดเมื่อเดือนธันวาคม 2552 แต่ประมาทไม่ไปพบแพทย์ เพราะไม่คิดว่าสุนัขจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า จึงเสียชีวิตในเวลาต่อมา
นพ.มานิต ยังกล่าวถึงสถานการณ์ผู้เสียชีวิตโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยว่า ในปี 2552 มีรายงานผู้ป่วยสูงขึ้นจากปี 2551 มาก
ในปี 2551 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพียง 9 ราย แต่ในปี 2552 เพิ่มเป็น 24 ราย และปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -วันที่ 16 กุมภาพันธ์ มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วถึง 6 ราย เป็นชาย 4 ราย หญิง 2 ราย ในจำนวนนี้อยู่ใน กทม. ถึง 3 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ใน จ.กาญจนบุรี สระบุรี และสมุทรปราการ จังหวัดละ 1 ราย รายล่าสุดเป็นข้าราชการ สธ.คนดังกล่าว แม้ผู้เสียชีวิตรายนี้จะเกิดจากความประมาท แต่ถือเป็นอุทธาหรณ์ครั้งสำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็น สธ. กรมปศุสัตว์ หรือแม้แต่ กทม.ในการเข้าไปควบคุมป้องกันโรค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้จำหน่ายสุนัขที่ตลาดจตุจักร แหล่งศูนย์รวมการแพร่โรคพิษสุนัขบ้าสู่ประชาชน
ด้าน สพญ.อภิรมย์ พวงหัตถ์ หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อจากสัตว์และคน กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้รับสุนัขหลายพันธุ์มาจากฟาร์มใน จ.เชียงใหม่ทุกวันศุกร์
เพื่อนำไปจำหน่ายที่ตลาดนัดจตุจักรในวันเสาร์-อาทิตย์ มีลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ส่วนสุนัขตัวที่กัดเจ้าของจนเสียชีวิตนี้ เป็นสุนัขพันธุ์ร็อดไวล์เลอร์ อายุ 3 ปี กัดที่ต้นแขนตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีผู้ถูกกัดคราวเดียวกัน 3 คน คือ ผู้ตาย สามีของผู้ตาย และลูกจ้างชาวพม่า ซึ่งลาออกไปแล้วติดตามตัวไม่ได้ หลังถูกกัด ผู้ตายไม่ได้ไปพบแพทย์ เพราะได้ซื้อวัคซีนฉีดให้ด้วยตนเอง จากนั้นสุนัขดังกล่าวตาย ผู้ตายฝังไว้ในบ้าน ต่อมามีสุนัขในบ้านตายอีก 8 ตัว โดย 7 ตัว เป็นลูกของสุนัขร็อดไวล์เลอร์ตัวดังกล่าว ส่วนอีก 1 ตัว เป็นพันธุ์พุดเดิ้ล
สพญ.อภิรมย์ กล่าวอีกว่า ผู้ตายเริ่มมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ หายใจไม่ออก ปวดศรีษะ ตึงตามแขน ขา ไหล่ และคอ
คิดว่าเพราะความเครียด ต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ มีอาการเหมือนติดเชื้อไม่สบายตัว จึงไปพบแพทย์ที่สถาบันบำราศนราดูร แพทย์เก็บตัวอย่างเสมหะ สารคัดหลั่งส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่อมาเวลา 04.00 น.วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ผู้ป่วยมีอาการกลัวน้ำ คอแข็ง และเสียชีวิตในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ผลการตรวจสารคัดหลั่งทางห้องปฏิบัติการยืนยันชัดเจนว่าเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า