ลูกชิ้นเรืองแสงพ่นพิษ พ่อค้าแม่ค้าโอดทำลูกค้าหดหาย “จุรินทร์” สั่ง สสจ.ทั่วประเทศ เร่งสุ่มตรวจลูกชิ้นปลาเรืองแสงค้นหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรแน่
หากพบเป็นสารอันตรายจับขึ้นบัญชีเป็นสารต้องห้ามชนิดที่ 7 แล้วรีบแจ้งให้ประชาชนทราบทันที คาดเป็นลูกชิ้นปลาทำมาจากปลาดาบคาว แนะผู้บริโภคควรทำตามคำแนะนำนักวิชาการ ทำให้สะอาดก่อนบริโภค จากกรณีที่เดลินิวส์นำเสนอข่าวลูกชิ้นปลาเรืองแสง จนทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกสุ่มเก็บตัวอย่างลูกชิ้น ที่จำหน่ายตามสถานที่ต่าง ๆ ส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ จนทำให้ประชาชนทั่วประเทศตื่นตัว พยายามหลีกเลี่ยงการบริโภคลูกชิ้น เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย จนกว่าจะได้รับการยืนยันจาก อย. ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าลูกชิ้น ได้รับผลกระทบยอดขายลดลง ตามข่าวที่นำเสนอไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย.
กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจลูกชิ้นเรืองแสงว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำลังเร่งตรวจสอบในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้และอยากทราบเช่นกันว่า เกิดการเรืองแสงได้อย่างไร
ด้าน นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รอง เลขาธิการ อย. กล่าวว่า เคยเห็นลูกชิ้นปลาเรืองแสงเช่นกัน ตอนไปซื้อที่ร้านค้าเจ้าเดียวกับที่ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ไปซื้อมาให้ตรวจสอบ
และขณะนี้ได้ส่งลูกชิ้นไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบแล้ว ขณะเดียวกันได้ส่งเจ้าหน้าที่กองควบคุมอาหารลงไปในพื้นที่เพื่อดูว่าโรงงานใช้ปลาชนิดใดมาผลิตลูกชิ้นปลา และเป็นปลาที่มีการเรืองแสงได้หรือไม่ เพราะอย่างที่บอก สารเรืองแสงไม่ได้พบในเนื้อปลา แต่พบในน้ำที่ไหลออกมา และตอนนี้ยังไม่รู้ว่าสารเรืองแสงคืออะไร แต่คงต้องรีบหาคำตอบให้กระจ่างโดยเร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากการสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์กูเกิล พบว่า มีการค้นคำว่า “ลูกชิ้นเรืองแสง” ถึง 39,800 ครั้ง ลูกชิ้นปลาเรืองแสง 19,100 ครั้ง
และเมื่อเข้าไปดูข้อความที่มีการโพสต์ทางอินเทอร์เน็ตในพันธุ์ทิพย์ และเอ็มไทย พบว่า มีการโพสต์ข้อความ และรูปภาพลูกชิ้นปลาเรืองแสง มาตั้งแต่ปี 2552 ระบุว่าน่าจะเกิดจากสารฟอกขาว สารฟอสเฟต บางคนพูดติด ตลกว่าเป็น “ลูกชิ้นปลาอวตาร” เหมือน กับชาวนาวี แต่นักท่องอินเทอร์เน็ตหลาย คนยังไม่รู้คำตอบว่า ลูกชิ้นปลาเรืองแสงสาเหตุเกิดจากอะไรกันแน่
สุ่มตรวจลูกชิ้นปลาหาต้นเหตุเรืองแสง
วันเดียวกัน นายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศสุ่มเก็บตัวอย่างลูกชิ้นปลามาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้ว
หากพบว่ามีการปนเปื้อนสารอันตราย จะได้รีบแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนให้ทราบ เพราะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าสารเรืองแสงดังกล่าวคืออะไร และเท่าที่ทราบทางเลขาธิการ อย. จะนำมาให้ดูในวันที่ 17 ก.พ. และหลังจากนั้นจะนำส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทันที โดยตนจะตามไปดูการตรวจด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า นโยบาย ที่มอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนิน การต่อจากนี้ไปคือเร่งตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร 6 ชนิด
คือ สารเร่งเนื้อแดง (ซาลบูทามอล) สารบอแรกซ์ (โซเดียมบอเรต) ฟอร์มาลิน สารกันรา (กรดซาลิซิลิก) สารฟอกขาว (สารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์) และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงต้องรีบตรวจให้รู้ผลโดยเร็ว เพราะจะได้รีบแจ้งประชาชน และ ผู้บริโภครับทราบหากเป็นสารอันตราย และในส่วนของผู้ผลิตจะได้เข้าไปดูแลให้เลิก ใช้สารที่เป็นอันตราย และให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนผู้บริโภคจะต้องทำตามที่นัก วิชาการแนะนำ คือต้องล้างให้สะอาด และ นำมาลวกนาน ๆ
ที่กรมอนามัย นายจุรินทร์ กล่าว ระหว่างตรวจเยี่ยมกรมอนามัยว่า นอกจาก สารต้องห้าม 6 ชนิดที่พบมากในอาหารแล้ว
หากผลการตรวจลูกชิ้นเรืองแสงออกมาพบว่ามีสารอันตราย อาจจะต้องประกาศให้เป็นสารต้องห้ามชนิดที่ 7 ต่อไป โดยขณะนี้ได้สั่งการให้ อย.ไปสุ่มเก็บตัวอย่างลูกชิ้นปลามาตรวจสอบแล้ว และในวันที่ 22 ก.พ.จะแถลงผลการตรวจให้ทราบโดยเร็ว เพราะผู้บริโภคต้องการความกระจ่าง อีกทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่บริสุทธิ์ ขายของไม่ได้
วันเดียวกัน นพ.นรังสรรค์ พีรกิจ รองเลขาธิการ อย. ภกญ.พิกุล เสียงประเสริฐ เภสัชกรเชี่ยวชาญ ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุข จ.ปทุมธานี
ได้ลงพื้นที่ตรวจร้านค้าตลาดรังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี รวมทั้งหมด 8 ราย หลังจากมีชาวบ้านซื้อลูกชิ้นปลาแล้วพบมีสีเรืองแสง จึงเกรงว่ารับประทานไปแล้วจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย พร้อมกับนำตัวอย่างลูกชิ้นส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยจะทราบผลภายใน 1 สัปดาห์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับลูกชิ้นที่พบว่ามีสารเรืองแสง เป็นลูกชิ้นปลาทำมาจากปลาดาบคาว ซึ่งเป็นปลาทะเล
ซื้อมาจากร้านแห่งหนึ่ง ใน ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม จึงประสานให้สาธารณสุข จ.สมุทรสงคราม เข้าไปตรวจสอบดูว่าลูกชิ้นปลาเรืองแสงเกิดจากสาเหตุใดแน่ ขณะที่มีผู้ทำลูกชิ้นปลารายหนึ่งเปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นปลายฝนต้นหนาว และเมื่อนำปลามาทำลูกชิ้นปลา จะเกิดเรืองแสงไปในลูกชิ้นด้วย แต่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด
ด้าน ภกญ.พิกุล กล่าวว่า ได้ส่งตัวอย่างลูกชิ้นปลาไปตรวจหาสาเหตุแล้ว ส่วนลูกชิ้นปลาเรืองแสง เคยพบครั้งหนึ่ง เมื่อปลายปี พ.ศ. 2550
แต่เมื่อตรวจแล้ว ไม่พบสารตกค้างแต่อย่างใด แต่ผู้ซื้อลูกชิ้นปลาไปบริโภค ควรจะทำอาหารให้สุก เพื่อป้องกันอันตราย อย่างไรก็ดี ประชาชนไม่ต้องตกใจกลัว เนื่องจากสาธารณสุขออกสุ่มตรวจเป็นประจำอยู่แล้ว ขณะที่ นางกนิษฐา ปุยขาว อายุ 33 ปี เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวซุ้ยเฮง ถนนอุบล ต.เมืองใต้ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ กล่าวยืนยันว่าลูกชิ้นที่ร้านมีคุณภาพดี ไม่มีสารเคมีเจือปน แต่ลูกค้าก็ยังไม่มั่นใจ พากันหนีหายไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จนต้องหันมาใช้เนื้อวัว หมู ไก่ แทนลูกชิ้นปลาชั่วคราว เพื่อเรียก ลูกค้ากลับมารับบริการเหมือนเดิม
ด้าน ภก.ธีรยุทธ ประชุมรัตน์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กล่าวว่า อย่าวิตกกังวลถึงขั้นไม่กล้ารับประทานลูกชิ้น
เพราะหากใช้อุณหภูมิสูงปรุงให้สุกจะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ที่คาดว่าก่อให้เกิดการเรืองแสงได้ ส่วนสารโซเดียม ไตรโพลีฟอสเฟต ที่คาดว่าผสมอยู่ในลูกชิ้นนั้น หากใช้ใน ปริมาณที่ อย.กำหนดถือว่าปลอดภัย แต่ หากจะซื้อลูกชิ้นไปบริโภค ควรดูบรรจุภัณฑ์ ว่ามีความสะอาด ปลอดภัย และน่าเชื่อถือได้เพียงใด.