ความคืบหน้าเรื่องลูกชิ้นปลาเรืองแสงที่มีผู้บริโภครายหนึ่งนำเข้าร้องเรียนกับหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
โดยระบุว่าซื้อมาจากตลาดแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี ซึ่งแม่ค้าบอกว่าเป็นลูกชิ้นปลาชั้นดีจากเยาวราช เบื้องต้น นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สงสัยว่าลูกชิ้นดังกล่าวอาจเน่าเสียและเรืองแสงได้ เพราะมีแบคทีเรียสูโดโมแนสนั้น เมื่อวันที่ 14 ก.พ. นพ.พิพัฒน์ เลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า หลังได้ตัวอย่างลูกชิ้นในวันที่ 15 ก.พ.นี้แล้ว อย. จะส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่ามีการปนเปื้อนแบคทีเรียสูโดโมแนส ตามที่สันนิษฐานไว้หรือไม่ และอาจต้องตรวจหาการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ อย. จะลงไปตรวจสอบที่ตลาดดังกล่าว และจะตามไปตรวจสอบโรงงานผลิตลูกชิ้นด้วย
ด้าน นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ทางกรมฯ ยินดีรับตรวจพิสูจน์ลูกชิ้นปลาเรืองแสง
ซึ่งการตรวจหาแบคทีเรียนั้นหากมีปริมาณมากภายใน 24 ชม. ก็จะทราบผล แต่ถ้ามีน้อยคงจะใช้เวลาราว 3 วัน เพราะต้องเพาะเชื้อก่อน แต่ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่า ลูกชิ้นที่เรืองแสงนั้นเกิดจากแบคทีเรียสูโดโมแนสหรือไม่ หรือว่ามีสารเคมีชนิดอื่นปนเปื้อน เช่น ฟอสฟอรัส ที่ทำให้มีการเรืองแสงได้เช่นกัน เพราะต้องได้รับตัวอย่างและนำมาตรวจก่อน แต่ที่อยากจะบอกก็คือ ไม่น่าจะมีอาหารที่มาจากธรรมชาติแล้วเรืองแสงได้ และอาหารเรืองแสงก็คงไม่ปลอดภัย
ขณะที่ นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ. สถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า หากผลการตรวจออกมาพบว่าลูก ชิ้นปลาเรืองแสงมีแบคทีเรียสูโดโมแนสจริง ก็ค่อนข้างอันตราย
เพราะแบคทีเรียชนิดนี้มักพบเจอในบาดแผลของคนเรา โดยเฉพาะบาดแผลที่ลึก ๆ เป็นหลุมใหญ่ ๆ ไม่มีออกซิเจน ซึ่งมันสามารถอยู่ได้ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน ตรงนี้น่ากลัวเพราะถ้ามันลงไปอยู่ที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้ของคนเราเมื่อใดมันก็มีโอกาสจะไปอยู่ตามซอกหรือตามกลีบลำไส้เล็ก ๆ ลึก ๆ อย่างสบาย และอาจทำให้เกิดอาการไส้เน่า ลำไส้ติดเชื้อ โลหิตเป็นพิษได้ รวมทั้งอาจทำให้ติดเชื้อในช่องท้อง และเป็นฝีในช่องท้องได้
“ปกติเชื้อแบคทีเรียสูโดโมแนสมักจะเจอในสัตว์ หรือสัตว์ที่เป็นแผล หรือในคนเป็นแผลที่มือ ถ้าลูกชิ้นปั้นโดยคนที่มือเป็นแผล มือไม่สะอาด คนซื้อลูกชิ้นมาแล้ว ไม่ได้นำไปลวกอีกที เอาไปกินเลยก็เสี่ยงอันตราย ดังนั้นลูกชิ้นแม้จะล้างแล้ว ลวกแล้ว ถ้าแช่ไว้ในตู้เย็นนาน ๆ ก็อาจมีเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ได้ ผมก็ไม่เคยเห็นลูกชิ้นเรืองแสงมาก่อน แต่อย่างที่บอกเชื้อดังกล่าวจะพบในบาดแผลของคนเรา ดังนั้นถ้าบาดแผลมีเชื้อชนิดนี้ก็จะมีกลิ่นอับ ๆ ใครได้กลิ่นสักครั้งจะจำได้ เพราะเป็นกลิ่นพิเศษ”
นพ.กฤษดายังกล่าวว่า อาจเป็นไปได้เช่นกันที่ลูกชิ้นดังกล่าวจะมีสารฟอสฟอรัส เพราะฟอสฟอรัสเป็นตัวเดียวกับพรายน้ำในเข็มนาฬิกาเรืองแสง
แต่ที่น่าเป็นไปได้คือ แบคทีเรียที่สร้างสารฟลูออเรสซีนสามารถเรืองแสงเวลาโดน แบล็ก ไลต์ หรือยูวี แลมพ์ อย่างไรก็ดี อยากแนะนำการทานลูกชิ้นอย่างปลอดภัย คือแม้คนขายจะบอกว่า ลวกแล้วแต่เราต้องนำมาล้างที่บ้าน หรือลวกอีกครั้ง และถ้านำไปเก็บไว้ในตู้เย็นนาน ๆ หลายวันหรือหลายสัปดาห์ อาจจะต้องนำมาลวกนาน ๆ อีกครั้ง นอกจากนี้ลูกชิ้นบางอย่างถ้าขายราคาถูกเกินไปก็ควรต้องระวังเช่นกัน เพราะอาจจะใช้เนื้อปลาปักเป้า หรือเนื้อปลาที่เก็บไว้นาน ๆ มาทำใหม่ ส่งผลให้อาจจะมีแบคทีเรียสูโดโมแนสปนเปื้อนอยู่ก็เป็นได้.