สรุปยอด6วันอันตรายตายแล้ว30ศพ เจ็บอีก378คน สาเหตุหลักเมาแล้วขับ ตรัง-สุราษฎร์ธานีครองแชมป์เกิดอุบัติเหตุ "ชวรัตน์"เผยยังไม่พอใจ อยากให้ลดลงถึง10%เตรียมประชุมอุดช่องโหว่อีก สรุป7วันอันตรายตาย347เจ็บ3,827เชียงใหม่-เชียงราย-โคราชแชมป์ลาโลก เมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงสรุปยอดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 "7 วันขับขี่ปลอดภัย เทิดไท้องค์ราชัน" ประจำวันที่ 3 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่ 6 ของการรณรงค์ ว่า วันที่ 3 มกราคม เกิดอุบัติเหตุ 358 ครั้ง ลดลงจากปี 2552 (388 ครั้ง) 30 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 7.73 ผู้เสียชีวิต 30 คน ลดลงจากปี 2552 (35 คน) 5 คน คิดเป็นร้อยละ 14.29 ผู้บาดเจ็บ 378 คน ลดลงจากปี 2552 (414 คน) 36 คน คิดเป็นร้อยละ 8.70 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 26.54 รองลงมา ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 21.23 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 76.61 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 57.54 บนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 36.59 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.45
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันที่ 5 มกราคมว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณชัย(ปภ.) ได้สรุปยอดอุบัติเหตุในช่วง 7 วันรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยฯ ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.52-4 ม.ค.53 มีอุบัติเหตุทั้งสิ้น 3,534 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 347 ราย บาดเจ็บ 3,827 ราย โดยเชียงใหม่,เชียงรายและนครราชสีมา มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 12 ราย
มท.1ไม่พอใจยอด6วันอันตรายดับเหลือ30ศพ เจ็บเกือบ400ส่วนใหญ่เมาแล้วขับ
นายถาวรกล่าวว่า ช่วงที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กลางคืน ร้อยละ 62.57 โดยเฉพาะช่วงเวลา 16.01-20.00 น.
เกิดอุบัติเหตุร้อยละ 29.61 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน คือร้อยละ 51.47 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตรัง สุราษฎร์ธานี 13 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) นครศรีธรรมราช 3 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี 14 คน จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ มี 11 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 54 จังหวัด ทั้งนี้ มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 67,703 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.59 ของการเรียกตรวจ โดยมีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่มากที่สุด 21,288 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 20,704 ราย
7วันอันตรายตาย 347 เจ็บ 3,827 อุบัติเหตุ 3,534
นายถาวรกล่าวต่อว่า เมื่อสรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2552-3 มกราคม 2553
เกิดอุบัติเหตุรวม 3,289 ครั้ง ลดลงจากปี 2552 (3,549 ครั้ง) 260 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 7.33 ผู้เสียชีวิตรวม 309 คน ลดลงจากปี 2552 (335 คน) 26 คน ร้อยละ 7.76 ผู้บาดเจ็บรวม 3,563 คน ลดลงจากปี 2552 (3,810 คน) 247 คน คิดเป็นร้อยละ 6.48 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ เชียงใหม่ 110 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ จันทบุรี เชียงใหม่ จังหวัดละ 11 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 128 คน จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุในช่วง 6 วัน ได้แก่ ยโสธร จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 6 วัน มี 7 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ นราธิวาส ปัตตานี ยโสธร สกลนคร สมุทรสาคร อ่างทอง จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 6 วัน ได้แก่ ยโสธร
นายถาวรกล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 6 วัน พบว่าพฤติกรรมเสี่ยงจากการไม่สวมหมวกนิรภัยลดลงจากร้อยละ 52 เป็นร้อยละ 31
เพราะการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยของทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง อุบัติเหตุที่เกิดบนถนน อบต. หมู่บ้าน ลดลงร้อยละ 12 เพราะกระทรวงมหาดไทย ใช้มาตรการทางสังคม กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน หมู่บ้านมีส่วนร่วมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ อุบัติเหตุรายใหญ่จากรถโดยสารสาธารณะลดลง เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเน้นการดำเนินการตามนโยบายด้านมาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะ การตรวจสอบความพร้อมของสภาพรถและพนักงานขับรถอย่างเข้มงวดทั้งที่สถานีขนส่งต้นทาง ปลายทาง และจุดตรวจต่างๆ
ด้านนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สถิติผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลปีใหม่ถือว่าน่าพอใจ
เพราะตัวเลขลดลงมากกว่าที่ตั้งเป้าให้ลดร้อยละ 5 แต่สามารถลดลงได้สูงถึงร้อยละ 7-8 แต่โดยส่วนตัวแล้วยังไม่พอใจ เพราะอยากให้ตัวเลขลดลงร้อยละ 10 ขึ้นไป ซึ่งจะมีการประชุมที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อหาข้อบกพร่องอีกครั้ง
นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2552-3 มกราคม 2553
มีประชาชนร้องเรียนการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารฯ 1584 เฉพาะกิจ ณ กรมการขนส่งทางบก สถานีขนส่งผู้โดยสารทั้ง 3 แห่ง และทางโทรศัพท์หมายเลข 1584 จำนวน 512 ราย แบ่งเป็นรถโดยสารประจำทาง 224 ราย ส่วนรถแท็กซี่จำนวน 288 ราย ความผิดส่วนใหญ่ ได้แก่ พนักงานขับรถโดยสารประมาทและไม่หยุดรับ-ส่งที่ป้าย รถแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารและแสดงกิริยาไม่สุภาพ มีลงโทษเปรียบเทียบปรับ ณ จุดตรวจ จำนวน 57 ราย ออกคำสั่งให้มาชำระค่าปรับ 37 ราย และอยู่ระหว่างเรียกตัวมาสอบสวนความผิดอีกกว่า 400 ราย