เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีเกิดเหตุก๊าซรั่วซ้ำซาก ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
จนเป็นเหตุให้ประชาชนต้องเข้ารักษาตัวที่ร.พ.จำนวน 6 ราย ว่า รายงานข่าวจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า หลังเกิดเหตุนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สั่งการเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปร่วมตรวจสอบที่มาของก๊าซดังกล่าว ร่วมกับตำรวจ สภ.มาบตาพุด ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สำหรับสารพิษที่รั่วออกมาดังกล่าว คาดว่าจะเป็นประเภทเอซิด ก๊าซ หรือกลุ่มก๊าซที่มีความเป็นกรด
น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวภายหลังหารือกับผู้ประกอบการในมาบตาพุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ถึงผลกระทบหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับ 65 โครงการในมาบตาพุด ซึ่งมีด้านพลังงานรวมอยู่ด้วย 19 โครงการว่า จะเกิดผลกระทบต่อเงินลงทุนประมาณ 9.3 หมื่นล้านบาท และทำให้เอกชนสูญเสียรายได้ 8.87 หมื่นล้านบาท/ปี เกิดผลกระทบต่อการจ้งงานทางตรง 12,000 ล้านบาท ทางอ้อม 36,000 ล้านบาท และเกิดปัญหาการว่างงาน 10,000 ล้านบาท
นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กรณีเหตุก๊าซรั่วที่ท่าเรือแหลมฉบังในวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น
มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนในเรื่องดังกล่าวแล้ว ว่ามีความผิดพลาดจนเกิดก๊าซรั่วในขั้นตอนไหน เชื่อว่าเรื่องนี้จะต้องมีคนผิดแน่นอน โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังพิสูจน์หลักฐาน ทั้งนี้ ยืนยันว่าการดำเนินการของท่าเรือนั้นทำอย่างถูกต้อง ปลอดภัย มีมาตรฐาน มีการกำหนดประเภทสินค้าที่อันตรายอย่างชัดเจน ถึง 9 ระดับ ตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวที่รั่วนั้นก็เป็นสินค้าอันตรายระดับที่ 1 เท่านั้น ตามหลักเกณฑ์สามารถวางตู้สินค้าที่ท่าเรือก่อนนำเข้าคลังสินค้าอันตรายได้ถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งเหตุการณ์ก๊าซรั่วระหว่างที่อยู่ที่ท่าเรือนั้นระยะเวลา 6 ชั่วโมงเท่านั้น
เมื่อเวลา 14.00 น. นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายประพัฒน์ วนาพิทักษ์ อธิบดีกรมโรงงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่
เดินทางมายังสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ประชุมร่วมกับ นายสยุมพร ลิ่มไทย ผวจ.ระยอง นายพีระวัฒน์ รุ่งเรืองศรี ผอ.นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในกรณีของก๊าซรั่วไหล นายสยุมพร ผวจ.ระยอง กล่าวว่า จากการประชุมร่วมประธานชุมชนในพื้นที่มาบตาพุด สรุปประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ในประเด็นแรก เกี่ยวกับสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจวัดสารเคมีไม่ครอบคลุม ตรวจวัดได้บางชนิด อุปกรณ์อาจไม่ได้ประสิทธิภาพ ประเด็นที่สอง เมื่อเกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลมักมีการปกปิดข้อมูล เพราะช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ต้องการแก้ไขกันเอง มีกลิ่นมาตามกระแสลมพัดผ่านแล้วก็หายไป แต่ตรวจพบกลิ่นสารที่มีความฉุนและเหม็นเปรี้ยวไม่ใช่ไฮโดรคาร์บอน แพทย์ระบุอาจเป็นคนละชนิดกัน ในประเด็นที่สาม ควรมีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง เพราะอาจเกิดปัญหาขึ้นมาอีก เป็นศูนย์วันสต๊อปเซอร์วิส ที่มีอุปกรณ์สื่อสารที่ดีมีประสิทธิภาพ ที่สามารถติดต่อประชาชนได้รวดเร็ว ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าสารที่รั่วมาจากโรงงานใด ต้องรอข้อมูลจากการทีมตรวจสอบก่อนจึงจะสรุปได้ ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
ต่อมามีคนงาน 4 คน ประกอบด้วย นางวนิดา การิยา อายุ 47 ปี น.ส.สุนันทา พละปี อายุ 30 ปี และนางสมบูรณ์ วรรณรัตน์ อายุ 40 ปี คนงานก่อสร้างของบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ที่ทำงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าโกล์ว ส่วนอีกคนชื่อ น.ส.ใจคำ พิลาสุข อายุ 41 ปี พนักงานของบริษัท PECI เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างบริษัทโกล์ว เดินทางเข้ามาแจ้งความต่อ พ.ต.ท.พันธศิริ พันธศรี สว.เวร สภ.มาบตาพุด ให้เอาผิดกับต้นตอที่ปล่อยกลิ่นสารเคมีรั่วไหลออกมา ซึ่งทั้งหมดสูดดมเข้าไปจำนวนมากจนหมดสติและยังต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง