คอเหล้าเซ็ง! สธ.เล็งติดภาพ-คำเตือนขู่ เลียนแบบบุหรี่ หวังลดนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายหนุน-ผู้ผลิตค้าน

คอเหล้าเซ็ง! สธ.เล็งติด"ภาพ-คำเตือน"ขู่ เลียนแบบบุหรี่ หวังลดนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายหนุน-ผู้ผลิตค้าน

สธ.เตรียมเสนอบอร์ดชุดเสธ.หนั่น พิจารณาติดสลากภาพ คำเตือนบนขวด "เบียร์-ไวน์-เหล้า" เหมือนบุหรี่ เครือข่ายหนุนสุดตัว ช่วยลดคอทองแดงหน้าใหม่ ผู้ผลิตค้านหัวชนฝา ลั่นแก้ไม่ตรงจุด เพิ่มภาระผู้ผลิต

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ถึงการเตรียมมาตรการรณรงค์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่กำลังใกล้เข้ามาว่า ขณะนี้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข  เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26 (1) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งหากร่างประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะถือเป็นประเทศแรกของโลกที่มีภาพคำเตือนติดบนขวด กล่อง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นประธาน


นพ.สมาน กล่าวต่อไปว่า สาระสำคัญคือ 1.ควบคุมฉลาก บรรจุภัณฑ์ ทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้า ต้องไม่มีข้อความลักษณะโฆษณาทั้งทางตรงและอ้อม ต้องไม่มีข้อความที่ทำให้เข้าใจว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความปลอดภัยหรือมีผลดีต่อผู้บริโภค และกำหนดให้มีข้อความว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ห้ามจำหน่ายแก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท” พิมพ์อยู่ด้านบนสุดของฉลากบรรจุภัณฑ์ จัดพิมพ์ตัวอักษรไทยสีขาว พื้นหลังเป็นสีดำ ข้อความคำเตือนต้องมีขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่ฉลากทั้งหมด 


2.บนฉลากต้องมีภาพคำเตือนโทษ พิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นรูปภาพ 4 สี จำนวน 5 แบบ จัดพิมพ์แบบละ 1,000 บรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นแบบที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดให้เท่านั้น ประกอบด้วย ภาพเตือน 1.ดื่มสุราทำให้เป็นโรคตับแข็ง 2.ดื่มสุราแล้วขับขี่ ทำให้พิการ และตายได้ 3.ดื่มสุราทำให้ขาดสติและตายได้ 4.ดื่มสุราทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ 5.ดื่มสุราทำร้ายตัวเอง ทำลายลูกและครอบครัว 6.ดื่มสุราเป็นตัวอย่างที่ไม่ได้ต่อเด็กและเยาวชน 3.สำหรับบรรจุภัณฑ์ทรงสี่เหลี่ยม ให้มีพื้นที่ภาพคำเตือนไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่บรรจุภัณฑ์แต่ละด้าน ส่วนบรรจุภัณฑ์ทรงกลม หรือทรงกระบอก หรือทรงอื่นๆ ให้มีพื้นที่ภาพคำเตือนไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่บรรจุภัณฑ์ทั้งหมด และต้องติดภาพคำเตือนอย่างถาวรไม่ลอกหลุดง่าย และต้องไม่มีวัสดุอื่นใดมาปิดทับภาพคำเตือนด้วย


4.ควบคุมภาชนะ หากเป็นขวด ต้องมีปริมาณบรรจุสุทธิไม่น้อยกว่า 250 มิลลิลิตร หากเป็นกระป๋อง ไห ถุง หรือภาชนนะอื่นๆ ต้องมีปริมาณบรรจุไม่น้อยกว่า 300 มิลลิลิตร ผู้ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ เชื่อว่าภาพคำเตือนจะช่วยให้คนไทยลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงได้


นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนสนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพราะจะสามารถช่วยลดปริมาณนักดื่มหน้าใหม่ได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้ที่เป็นนักดื่มอยู่แล้วคงไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้มากนัก เพราะสาเหตุหนึ่งของการกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ คือ การอยากลอง ทำให้บริษัทผู้ผลิตมีการคิดบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม น่าลองจูงใจกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น การเปลี่ยนรูปแบบฉลากจึงเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้น และเชื่อว่าจะสามารถลดปริมาณนักดื่มหน้าใหม่ได้อย่างแน่นอน


“เยาวชน และเครือข่ายป้องกันภัยแอลกอฮอล์ สนับสนุนมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแน่นอน ทำให้อาจจะมีการต่อต้านอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อภาพลักษณ์โดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทน้ำเมาพยายามสร้างภาพของการดื่มเพื่อความสนุกสนาน สร้างเพื่อน ซึ่งขัดต่อการรณรงค์ที่ชูในเรื่องของพิษภัยจากการดื่ม ซึ่งรัฐบาลต้องมีความจริงใจจึงจะสามารถทำได้สำเร็จ”นายคำรณกล่าว


ทางด้านท่าทีของฝ่ายผู้ประกอบการ นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า หากจะออกกฎให้ติดภาพดังกล่าวจริง กระทรวงต้องสั่งติดภาพรณรงค์ในสินค้าที่มีคุณสมบัติเหมือนกันคือบริโภคในปริมาณน้อยไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าบริโภคในปริมาณมากเป็นอันตราย เหมือนเครื่องดื่มบำรุงกำลัง และขนมขบเคี้ยว เป็นต้น เพราะการจะออกกฎใดก็ตามต้องเป็นไปด้วยความเท่าเทียมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการ


"ผมคิดว่าการรณรงค์ด้วยการติดภาพนั้น จะไม่ส่งผลกระทบให้ยอดขายลดลงแต่อย่างใด เห็นได้จากการติดภาพดังกล่าวบนซองบุหรี่ แม้มีการรณรงค์มาระยะหนึ่งแล้ว แต่พบว่ายอดขายบุหรี่ก็ไม่ได้ลดลง นอกจากนี้ยังมองว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นการควบคุมเกินความจำเป็น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน"นายฉัตรชัยกล่าว


นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบียร์ไฮเนเก้น ไทเกอร์และเชียร์ กล่าวว่า การออกกฎหมายต้องดูถึงวัตถุประสงค์ และประโยชน์ในการทำ รวมถึงต้องพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะบรรลุผล ส่วนตัวเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เหมือนกรณีการรณรงค์ติดภาพบนซองบุหรี่ ประเมินจากข้อมูลพบว่า ยอดขายบุหรี่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง รวมถึงยอดการสูบของผู้บริโภคยังเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้แล้วยังอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ อาทิ สินค้าจากต่างประเทศที่จำนวนการนำเข้าน้อยแล้วต้องมาติดภาพ ถือเป็นการเพิ่มภาระส่งผลให้ผู้ประกอบการรายเล็กดำเนินธุรกิจได้ลำบากยิ่งขึ้น


นายปริญ กล่าวด้วยว่า สังเกตุว่า สธ.ออกกฎหมายใดมาเสมือนเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ในขณะที่ข้อเสนอแนะจากนักวิชาการที่เสนอให้ปรับโครงสร้างการเก็บภาษีสรรพสามิตนั้น ทาง สธ.กลับไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์