ผวายาฝังลวด-สั่งเก็บพาราฯ1.2ล้านเม็ด

รมว.สาธารณสุขเต้นข่าวชาวบ้านพบยาพาราเซตามอล ขององค์การเภสัชฯ ดันมีเส้นลวดแทรกในเนื้อยา

บุกตรวจโรงงานเอกชนที่รับช่วงผลิตให้องค์การเภสัช พร้อมสั่งด่วนให้องค์การเภสัชยุติการจำหน่าย ทั้งเรียกเก็บยาที่ผลิตพร้อมกัน 1.2 ล้านเม็ดทั่วประเทศ เพราะหวั่นจะเกิดความเสียหายต่อสุขภาพประชาชน ชี้เศษลวดในยา น่าจะเป็นตะแกรงกรองเนื้อยาก่อนนำมาผสมอัดเม็ด เล็ดลอดขั้นตอนตรวจจับโลหะในยาไปได้ เพราะโรงงานเร่งเครื่องผลิตเร็วเกิน

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีพบเส้นลวดในยาพาราเซตามอล ที่จ.แพร่

ซึ่งยาดังกล่าว ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า อภ.จ้างบริษัทเอกชนเป็นผู้ผลิต ขณะนี้สั่งระงับการผลิตทั้งหมดแล้ว ยาล็อตดังกล่าวเป็นยาที่ผลิตในเดือนก.ค. ได้ตรวจสอบยาล็อตเดียวกันทั้งประเทศ โดยให้ยุติการจำหน่าย และสั่งการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปตรวจสอบโรงงานที่รับจ้างผลิตจากองค์การเภสัชกรรม เพราะโรงงานที่รับจ้างผลิตเป็นโรงงานที่ได้รับมาตรฐานคุณภาพ หากมาตรฐานคุณภาพไม่สามารถเป็นไปตามที่รับรองไว้ อย.ก็จำเป็นต้องเพิกถอนใบอนุญาต และจะให้อภ.ไปรับผิดชอบผู้ป่วยทั้งหมด ในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นมา

"จากกรณีที่เกิดขึ้น ได้ให้อย.เข้าไปใช้มาตรการในการตรวจสอบโรงงานที่ได้รับอนุญาตถี่ขึ้น และขอให้อภ.ตรวจมาตรฐานของสินค้าก่อนที่จะออกจำหน่ายให้ประชาชน สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ขอให้อภ.ในฐานะผู้จำหน่ายและผู้ผลิต รับผิดชอบอย่างเต็มที่ และยาที่ผลิตจากโรงงานดังกล่าวต้องเรียกกลับหมด ล็อตการผลิตเดียวกันที่พบปัญหานี้ มีทั้งสิ้น 4 ล็อต ล็อตละ 3 แสนเม็ด รวม 1.2 ล้านเม็ด โดยสั่งการทั่วประเทศเก็บยาล็อตดังกล่าวออกจากชั้นวางยาทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. เนื่องจากเป็นยาที่ด้อยคุณภาพ อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพประชา ชน และบ่ายวันนี้จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงงานดังกล่าวด้วย" นายวิทยากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่าย นายวิทยาพร้อมด้วยผู้บริหารสธ. อาทิ น.พ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการอย. น.พ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ. เดินทางไปยังอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อตรวจสอบโรงงานผลิตยาดังกล่าวของบริษัท โอสถอินเตอร์ แลบอลาตอรี่ จำกัด

นายวิทยากล่าวว่า จากข้อสันนิษฐาน มีความเป็นไปได้ว่าเล้นลวดที่อยู่ในยาพาราเซตา มอล เป็นวัสดุเรียกว่าแร่งยา ที่มีลักษณะคล้ายกับตะแกรงกรองเนื้อยา ก่อนนำมาผสมและตอกอัดเป็นเม็ด หลังจากนี้ จะมีขั้นตอนใช้เครื่องจับโลหะด้วย เพื่อแยกเม็ดยาที่มีโลหะหรือสิ่งแปลกปลอมออก แต่สาเหตุที่ยาดังกล่าวไม่ถูกคัดออก เนื่องจากมีการตั้ง เครื่องที่เร็วเกินไป จึงทำให้ยาล้น เครื่องไม่สามารถคัดยาดังกล่าวออกได้ทัน

นายวิทยากล่าวว่า อย.ต้องพิจารณารายละเอียดว่า ลวดที่พบในเม็ดยาเป็นแร่งยาตามที่สันนิษฐานหรือไม่

แต่เบื้องต้นอภ.ต้องรับผิดชอบผลความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคก่อน เพราะเป็นหน่วยงานราชการ และเป็นหน่วยงานที่ซื้อยาจากบริษัทดังกล่าวมาขายต่ออีกทอดหนึ่ง ส่วนอภ.ที่เสียหายทั้งชื่อเสียง จะเรียกร้องกับบริษัทนี้หรือไม่ต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้อย.ตรวจสอบเรื่องคุณภาพการผลิต พร้อมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ให้มีสภาพที่ดีมีความพร้อม และให้ระงับการผลิตไปก่อนจนกว่าแก้ไขปรับปรุง

ทางด้านน.พ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ. กล่าวว่า หลังจากนี้อภ.จะสร้างความเชื่อมั่นในยาของอภ.ว่า ยาที่อภ.จ้างให้ผลิตทุกแห่ง

เป็นยาที่ผลิตได้มาตรฐานการผลิตที่ดี (จีเอ็มพี) จากอย. แต่ในส่วนของยาพาราเซตามอลนั้น จะต้องมีการเก็บยาทั้งหมดมาตรวจสอบ และหลังจากที่อย.ไปตรวจสอบมาตรฐานทั้งหมดแล้ว จะส่งเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้ามาร่วมตรวจสอบกับบริษัทผู้ผลิตด้วย ซึ่งเป็นการร่วมมือในการทำงาน ไม่ใช่การจับผิด จากการที่ได้รับทราบข้อมูล อาจต้องมีการปรับความเร็วของเครื่องให้มีความพอเหมาะกับความสามารถในการตรวจจับโลหะ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"ส่วนประเด็นเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิต จะต้องรอเก็บยาพาราเซตามอลล็อตดังกล่าวทั้งหมดมาพิจารณา ถึงจะคำนวณความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงชื่อเสียงของอภ. ทั้งนี้ อภ.ได้จ้างบริษัทดังกล่าวผลิตมา 3 ปีแล้ว ในอนาคตจะย้ายฐานการผลิตจากบริษัทดังกล่าวไปยังโรงงานของอภ.ที่กำลังสร้างอยู่ที่จ.ปทุมธานี" น.พ.วิทิตกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนที่พบเส้นลวดฝัง ในเนื้อยาพาราเซตามอลดังกล่าว คือ นาง แสงเดือน บ่อคำ อายุ 45 ปี ชาว อ.เมือง จ.แพร่

ซื้อยาพาราฯ จากร้านขายยาในหมู่บ้าน ซึ่งผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม จะให้ลูกสาววัย 9 ขวบกินแก้ไข โดยนางแสงเดือนตัดแบ่งครึ่งยา เพราะลูกสาวบ่นว่ายาเม็ดใหญ่ไป จึงเห็นว่าในยาเม็ดดังกล่าวมีเส้นลวดแทรกอยู่

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์