จากกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ประกาศหยุดเดินรถไฟสายใต้ รถไฟสายท้องถิ่น
โดยอ้างว่า หัวรถจักรไม่อยู่ในสภาพร้อมใช้งานต้องนำไปตรวจซ่อมก่อนเพื่อความปลอดภัย ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และมีผู้โดยสารตกค้างตามสถานีต่างๆ จำนวนมาก ทำให้เกิดกระแสวิพากวิจารณ์ถึงวิธีการหยุดเดินรถไฟประท้วง โดยมุ่งประเด็นไปที่ความขัดแย้งระหว่างพนักงงานรถไฟกับฝ่ายบริหารนั้น
สวนดุสิตโพล โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถึงกรณีดังกล่าว
จำนวนทั้งสิ้น 1,064 คน ระหว่างวันที่ 18-19 ตุลาคม 2552 โดยเริ่มจากการใช้บริการของรถไฟแห่งประเทศไทย พบว่า ประชาชนในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 38.61 ไม่ค่อยได้ใช้บริการรองลงมา ร้อยละ 30.69 ใช้บางเป็นบางครั้ง ขณะที่ร้อยละ 20.80 ไม่ได้ใช้เลย
ส่วนจากข้ออ้างที่ว่า จะไม่มีการนำหัวรถจักรออกวิ่งทำขบวนอย่างเด็ดขาด หากไม่ได้รับการซ่อมแซมจนอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
ประชาชนร้อยละ 50.54 เห็นว่า เป็นเหตุผลที่ไม่เหมาะสม เพราะควรแจ้งให้ผู้โดยสารทราบก่อนล่วงหน้า ทั้งยังเป็นการสร้างความเดือดร้อนอย่างมาก บางคนต้องรีบไปทำธุระ ทำให้เกิดความล่าช้า และไม่ปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารที่ต้องเดินทางในยามค่ำคืน ขณะที่ ร้อยละ 32.97 มองว่าเป็นเหตุผลที่เหมาะสม เพราะหากรถไฟอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ก็ควรซ่อมแซมให้ดีก่อนนำออกมาให้บริการ ถ้าชำรุดจริงอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้โดยสารได้ มีเพียงร้อยละ 16.49 เท่านั้นที่ระบุ ไม่แน่ใจ เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง หากมีปัญหาจริงทำไมจึงออกมาประกาศในตอนนี้
ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 73.03 ไม่เห็นด้วย กับวิธีหยุดเดินรถไฟประท้วง
เนื่องจากพนักงานขัดแย้งกับฝ่ายบริหาร เนื่องจากมองว่า ควรใช้วิธีอื่นในการแก้ปัญหา เช่น ส่งตัวแทนสหภาพมาเจรจากับผู้บริหาหรรือยื่นหนังสือโดยรวบรวมรายชื่อและยื่นหนังสือต่อผู้บริหาร ฯลฯ, แต่อีกส่วนที่ไม่มั่นใจคือ ร้อยละ 14.61 มองว่า ไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนมากพอ ทางสหภาพรถไฟอาจห่วงใยความปลอดภัยของผู้โดยสารจริงๆ ที่เห็นด้วยมีเพียงร้อยละ 12.36 เพราะเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจน เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ผู้บริหารลงมาดูแลหรือรับฟังข้อเสนออย่างจริงจัง
คำถามที่ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 41.87 ระบุว่าไม่แน่ใจ เพราะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง
อาจเป็นปัญหาภายในของคนในการรถไฟฯ ด้วยกันเอง ส่วนที่มองมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง อยู่ที่ร้อยละ 32.72 เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ การดำเนินงานต่างๆ ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล ขณะที่ร้อยละ 25.41 เชื่อว่า ไม่น่ามีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะสาเหตุน่าจะมาจากรถไฟตกราง หรือไม่ก็เป็นการเรียกร้องถึงความยุติธรรมและเป็นปัญหาภายในการรถไฟฯ มากกว่า
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการแก้ไข ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 33.16 มองว่า ทั้ง 2 ฝ่ายควรส่งตัวแทนมาเจรจากัน
และเปิดให้บริการเดินรถไฟแก่ประชาชนทุกเส้นทางตามปกติ รองลงมา ร้อยละ 27.29 มองว่า ผู้ว่าฯ การรถไฟฯ ควรออกมาชี้แจงถึงประเด็นข้อสงสัยต่อสาธารณชน ส่วนที่มองว่า ควรปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยครั้งใหม่อย่างจริงจังอยู่ที่ร้อยละ 22.80 แต่ที่มองว่า รัฐบาลควรเร่งดำเนินการหรือส่งตัวแทนเข้ามาไกล่เกลี่ยโดยเร็วที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 10.72 และที่มองว่า ควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาดูแลอยู่ที่ ร้อยละ 6.03