ศาลปกครองเชียงใหม่ถอนคำสั่งปลดออกโอ๋ สืบ 6


รายงานแจ้งว่า ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาถอนคำสั่งสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ (สนว.ตร.) เรื่องลดโทษจากไล่ออกจากราชการเป็นลงโทษปลดออกจากราชการ ของ พ.ต.อ.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ (หรือ ฤทธิรงค์ เทพจันดา) หรือ โอ๋ สืบ 6 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ทั้งนี้ ให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันออกคำสั่ง ในคดีที่ พ.ต.อ.ธนายุตม์เป็นผู้ฟ้องคดี กรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย


คดีนี้ผู้ฟ้องคดีระบุว่า ขณะดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 (ผกก.สส.น.6) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้รับมอบหมายให้จัดกำลังฝ่ายสืบสวนนอกเครื่องแบบ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ในการเดินทางมาเป็นประธานเปิดอุทยานการเรียนรู้ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า โดยมีการชุมนุมของประชาชนฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณและได้ทำร้ายร่างกายนายวิชัย เอื้อสิยาพันธุ์ และนายฤทธิรงค์ ลิขิตประเสริฐกูล ฝ่ายต่อต้านที่ตะโกนขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต่อมาทั้งสองเข้าแจ้งความ สน.ปทุมวัน ให้ดำเนินคดีอาญาผู้ฟ้องคดีฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาและส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.เพื่อไต่สวนและวินิจฉัย


กระทั่ง ป.ป.ช.มีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวน และวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 ประธานอนุกรรมการไต่สวนได้ออกแถลงข่าวว่า ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาและทางวินัยผู้ฟ้องคดีว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีมีมูลเป็นความผิดวินัยร้ายแรง และได้ส่งหนังสือถึงผบ.ตร.ให้พิจารณาโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับเรื่องเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ และมีมติลงโทษไล่ออกจากราชการ ต่อมาผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 มีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออก


ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ไต่สวนและชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัยผู้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ให้เวลาตามสมควรในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานไม่ถูกต้อง เลือกปฏิบัติ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ซึ่งศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แต่กำหนดให้ผู้ถูกต้องคดีที่ 1 เป็นพยาน


ศาลไต่สวนคู่กรณีทั้งสองฝ่ายพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การดำเนินการไต่ส่วนของคณะอนุกรรมการไต่สวนเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และระเบียบ ป.ป.ช. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 จึงไม่ชอบด้วยขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด


ส่วนความผิดฐานกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ราชการนั้น คณะอนุกรรมการไต่สวนไม่ได้วิเคราะห์ว่า พฤติการณ์ทั้งหมดของผู้ฟ้องคดีก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงอย่างใด เพียงแต่อ้างว่าทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ เมื่อวินิจฉัยว่ามติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เห็นว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงไม่อาจรับฟังได้ และการพิจารณาสั่งลงโทษของสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีคำสั่งตามความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าว โดยมิได้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น การสั่งลงโทษของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย


จึงพิพากษาถอนคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจเรื่องลดโทษจากไล่ออกจากราชการเป็นลงโทษปลดออกจากราชการ ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ทั้งนี้ ให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันออกคำสั่งสั่ง ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2551


รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ พ.ต.อ.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ได้กลับเข้ารับราชการตามเดิม และเตรียมฟ้องกลับผู้เกี่ยวข้องบางส่วนทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง จึงมีความพยายามจากผู้มีอำนาจล็อบบี้เพื่อรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่โดยอาศัยช่องทางพิเศษทั้งๆ ที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดไปแล้วเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2551


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์