นิวยอร์ก 10 ส.ค. - นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ระบุจุดและช่วงเวลาที่น่าจะเกิดคลื่นผิวน้ำขนาดใหญ่ประเภทคว่ำเรือและแท่นนอกชายฝั่งได้อย่างฉับพลัน
ทิม แจนเซน จากมหาวิทยาลัยรัฐซานฟรานซิสโก และ โธมัส เฮอร์เบอร์ส จากบัณฑิตวิทยาลัยทางทะเลในรัฐแคลิฟอร์เนีย
พัฒนาแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์พบว่า พื้นที่ชายฝั่งที่น้ำทะเลมีระดับความลึกหลากหลายและมีกระแสน้ำแรงเป็นจุดเสี่ยงเกิดคลื่นผิวน้ำขนาดใหญ่ฉับพลันมากที่สุด เรียกว่า freak waves หรือ rogue waves สูงกว่าคลื่นผิวน้ำทั่วไปประมาณ 3 เท่า โดยอาจสูงสุดถึง 18 เมตร หรือเท่ากับอาคาร 6 ชั้น คลื่นแบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อคลื่นธรรมดาเคลื่อนผ่านสันดอนทรายหรือกระแสน้ำแรงทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางและความเร็ว พลังงานของคลื่นไปรวมอยู่ที่จุดเดียวกลายเป็นจุดเสี่ยงให้เกิดคลื่นผิวน้ำขนาดใหญ่ฉับพลัน เปรียบเหมือนแว่นขยายที่รวมแสงไว้จุดเดียว และทำให้เกิดความร้อนถึงขั้นไหม้ได้ ท้องทะเลทั่วไปมีโอกาสเกิดคลื่นผิวน้ำขนาดใหญ่ฉับพลัน 3 ลูกจากคลื่นทุก 10,000 ลูก แต่ในจุดเสี่ยงโอกาสจะเพิ่มเป็น 3 ลูกจากคลื่นทุก 1,000 ลูก
พวกเขาจะไปทดสอบกับจุดเสี่ยงเกิดคลื่นผิวน้ำขนาดใหญ่ฉับพลันที่รู้จักกันอยู่แล้วอย่างหาดคอร์เทซในรัฐแคลิฟอร์เนีย
เพื่อดูว่าแบบจำลองคอมพิวเตอร์ถูกต้องหรือไม่ การรู้จุดเสี่ยงเกิดคลื่นแบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดเส้นทางเดินเรือเพื่อเลี่ยงจุดเสี่ยง รวมทั้งการพยากรณ์อากาศในการเดินเรือและการออกแบบแท่นนอกชายฝั่งให้มั่นคงแข็งแรง. - สำนักข่าวไทย