คำถามชายแดนใต้...ที่รัฐต้องเร่งหาคำตอบ
ผ่านไปแล้วกว่า 1 เดือน สำหรับกรณีคนร้ายยิงถล่มเข้าไปใน มัสยิดบ้านไอปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นการผ่านไปท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากประชาชน ในพื้นที่ ภาคประชาสังคม ที่เรียกร้องต่อรัฐ บาล ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้เร่งหาคนผิดมาลงโทษ รวมทั้งเปิดเผยความคืบหน้าของการสืบสวนสอบสวน หาตัวคนร้าย เพราะ ยิ่งนานวัน บาดแผลยิ่งกลัดหนอง และยิ่งจะกลายเป็นปัญหาความมั่นคง จะลามออกไปสู่เวทีสากล
แน่นอน เป็นที่ทราบกันดีว่า การทำงานของทุกหน่วยงานที่เป็นภาครัฐ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นเรื่องที่ยากเย็น งานสืบสวนสอบสวนนั้นแม้จะยุ่งยาก แต่ก็ไม่ยากเท่ากับการอธิบายความกับคนในพื้นที่ให้เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการอธิบายว่า การยิงถล่มมัสยิดไอปาแยจนทำให้ผู้คน 11 คน ที่กำลังปฏิบัติศาสนกิจเสียชีวิต รวมทั้งมีคนเจ็บอีก 12 คน เป็นฝีมือของแนวร่วม ขบวนการแบ่งแยกดินแดน
เพราะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลานั้น ความจริง กับความเชื่อ เป็นคนละเรื่อง
และหลังเกิดเหตุเพียงไม่กี่ชั่วโมง คนในพื้นที่ส่วนมากก็เชื่อว่า การกระทำอย่างโหดเหี้ยมครั้งนี้ ไม่ใช่การลงมือของ “แนวร่วม” ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ โดยคนในพื้นที่มีเหตุผลของเขาว่า แนวร่วม จะไม่ทำอย่างนั้น ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นคน “มลายู” ที่นับถือศาสนาเดียวกันเท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลอื่นมาสนับสนุนคือ คนตายคนเจ็บและโต๊ะอิหม่ามที่เสียชีวิต ไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่ให้การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐ
และหากติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ จะพบว่าหลังเกิดเหตุ คนในพื้นที่มีการสื่อสารกันอย่างรวดเร็ว โดยระบุชื่อว่า ผู้ที่ปฏิบัติการโหดครั้งนี้ มีจำนวน 5 คน และที่สำคัญ มีการระบุชื่อว่า ทั้ง 5 คน เป็นใครอยู่ที่ไหน
ซึ่งปรากฏการณ์นี้ มองได้ 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเป็นการวางแผนของขบวนการ บีอาร์เอ็นฯ ที่หลังจากกลุ่มคอมมานโดยกลุ่มแรกปฏิบัติการโหดแล้ว ก็ส่งแนวร่วมที่เป็น เปอมูดอ กลุ่มที่ 2 ออกกระจายข่าวในพื้นที่ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และคนไทยพุทธในพื้นที่ เพื่อหวังผลสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้น
แต่... ถ้าเอารายชื่อคนทั้งหมด ที่คนในพื้นที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มคนร้ายมาเปิดปูมประวัติ ดู จะพบสาเหตุที่คนในพื้นที่เชื่อ เป็นเพราะทั้งหมดมีประวัติในการก่อการในพื้นที่มาโดยตลอด และมีข้อขัดแย้งกับคนในพื้นที่บ่อยครั้ง ดังนั้นจึงทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่า คนเหล่านี้คือฆาตกร และยิ่งหน่วยงานของรัฐยิ่งเชื่องช้าในการเปิดเผยข้อเท็จจริง ในการสืบสวนสอบสวนเท่าไหร่ น้ำหนักความเชื่อถือยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น
และในการที่จะเปิดเผยข้อเท็จจริงในการสืบสวนสอบสวนให้ชาวบ้านทราบ เจ้าหน้าที่ต้องหาเหตุผล หาหลักฐานที่ชัดเจน มายืนยันให้เกิดน้ำหนัก เพราะคำถามหนึ่งที่คาใจคนในพื้นที่คือ ถ้าการฆ่าคนมุสลิมในมัสยิด สามารถสร้างชัยชนะในการต่อสู้ให้กับขบวนการได้จริง หรือสามารถนำความชอบธรรมในการแบ่งแยกดินแดนไป สู่เวทีของ โอไอซี และของ ยูเอ็น ได้จริง ทำไมขบวนการจึงเพิ่งใช้แผนนี้ และทำไมจึงไม่มีการก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ยังมีคำถามที่ค้างคาใจ และดังกึกก้องอึงอลอยู่ในหัวใจของคนในพื้นที่ต่อนโยบายในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบที่บอกว่า จะใช้ สันติวิธีในการแก้ปัญหา เพราะหลังเกิดเหตุฆ่าหมู่ ในมัสยิด สิ่งที่หน่วยงานของรัฐทำคือ การส่งหน่วยรบพิเศษ 3 กองร้อย ลงพื้นที่ในทันที นักรบเหล่านี้ มีภารกิจเพื่อสันติภาพ จริงหรือ ?!?
โดยข้อเท็จจริง รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ว่า ขณะนี้ในพื้นที่ “สู้รบ”ทั้งการสู้รบด้วยอาวุธ และการสู้รบทางความคิด มีหน่วยงานติดอาวุธอยู่ในพื้นที่ 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มที่ 1 คือกองกำลังของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มที่มีการสนธิกำลังกัน 2. กองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีหน่วยรบพิเศษเป็นกำลังหลัก และแม้แต่ชุด “พัฒนาสันติ” ที่เข้าไปยึดพื้นที่ใน 217 หมู่บ้าน สีแดง ก็เป็นกำลังหลักจาก “รบพิเศษ” เช่นกัน และกองกำลังสุดท้ายที่น่ากลัวที่สุด คือ กองกำลังติดอาวุธไร้สังกัด ที่หลายหน่วยงานให้การสนับสนุนสร้างขึ้นมา และติดอาวุธให้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการ “ถ่วงดุล” ในพื้นที่
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาล และ กอ.รมน.ภาค 4 ต้องเร่งดำเนินการคือ ต้องสร้างโอกาสในวิกฤติ ด้วยการทำความจริงในกรณียิงมัสยิดไอปาแยให้ปรากฏชัด ถ้าเป็นการกระทำของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนจริง ต้องรีบนำเอาหลักฐานทั้งหมด (ที่มีน้ำหนักและเชื่อถือได้) มาเปิดเผยให้สาธารณชนได้ทราบโดยเร็ว เพราะหากเป็นการกระทำของแนวร่วมจริง ย่อมเป็นสิ่งที่คนมุสลิมทั้งโลกรับไม่ได้ จุดจบของขบวนการในพื้นที่จะมาถึงอย่างรวดเร็ว นั่นหมายถึงชัยชนะของรัฐบาล
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าผลการสืบสวนสอบสวน มีหลักฐานว่าเป็นการลงมือของกลุ่มติดอาวุธไม่มีสังกัด และของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อยู่นอกเหนือคำสั่ง รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบ และดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการของ “นิติรัฐ” และ “นิติธรรม” เพราะมิฉะนั้นแล้วรัฐบาลจะหมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อไป !.