นางสุมาลี ศรีชุม อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 211 หมู่ 5 ต.บ้านสร้าง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เข้าร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมและการรับผิดชอบจากกรณีที่ หมอประจำโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา วินิจฉัยโรค ผิดพลาด ทำให้ต้องผ่าท้องเป็นแผลยาวกว่า 20 ซม. ได้รับความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก นางสุมาลี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนเกิดปวดท้องอย่างรุนแรง ญาติ ๆ จึงนำส่งรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าว โดยหมอรับตัวไว้และให้นอนดูอาการ เป็นเวลา 4 วัน แต่อาการปวดท้องก็ยังไม่ทุเลา
จนวันที่ 22 พ.ค. ตนปวดท้องจนทนไม่ไหว หมอจึงได้นำตนเองเข้าห้องผ่าตัดโดยแจ้งว่าตนเองกระเพาะรั่ว
และมีฟองอากาศจำนวนมากอยู่ในกระเพาะอาหารต้องผ่าตัดด่วน โดยทางโรงพยาบาลได้เรียกเงินค่าผ่าตัด 70,000 บาท แต่ครอบครัวของตนไม่มีเงิน จึงได้ขอให้ทำเรื่องส่งตัวไปยังโรงพยาบาลของรัฐบาล แต่ทางโรงพยาบาลไม่ยินยอม ญาติ ๆ จึงได้ขอให้ลดค่าผ่าตัด เหลือ 50,000 บาท
จากนั้นตนจึงได้รับการผ่าตัด แต่พอฟื้นจากฤทธิ์ยาสลบก็ต้องตกใจเมื่อพบว่ามีบาดแผลที่ท้องยาวกว่า 20 ซม. และต้องงงเมื่อหมออีกคนกลับแจ้งว่า ตนไส้ติ่งแตก
โดยตนต้อง นอนที่โรงพยาบาลอีก 2 วัน หมอจึงให้กลับบ้านได้ แต่เมื่อกลับมานอนรักษาตัวที่บ้าน ปรากฏว่าแผลที่ผ่าตัดได้มีน้ำเหลือง-น้ำหนองไหลออกมาตลอดเวลา ทำให้ตนเกรงว่าแผลจะติดเชื้อ และเกรงว่าทางโรงพยาบาลจะไม่รับผิดชอบที่หมอทำการวินิจฉัยโรคผิดจึงเข้าร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวให้ ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบการทำหน้าที่ของหมอและให้ความเป็นธรรมกับตนด้วย เนื่องจากมีชาวบ้านเสียชีวิตจากการวินิจฉัย โรคที่ผิดพลาดมาแล้วหลายราย
ด้าน นพ.วีระพล พีระพันธุ์เจริญ ผอ.โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โดยทั่วไปก่อนการผ่าตัดจะต้องตรวจให้แน่ชัดว่า ต้นเหตุของโรคคืออะไรและจะรักษาด้วยวิธีใด
สำหรับกรณีดังกล่าวทางโรงพยาบาลต้องดูแลรับผิดชอบ ส่วนที่ผู้ป่วยแจ้งว่ามีน้ำเหลือง-น้ำหนองไหลออกมาจากแผลนั้นให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน ส่วน นพ.รัตนชัย จุลเนตร สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ยังไม่ทราบ เรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลที่ให้การรักษาเป็นโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นคงต้องดูข้อเท็จจริงก่อนว่าเป็นอย่างไร
ขณะที่ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้คงให้ความเห็นอะไรไปก่อนไม่ได้ คงต้องเห็นข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกิดขึ้นก่อน แต่หากมีการร้องเรียนมาที่แพทยสภา ทางแพทยสภาก็พร้อมรับฟังและให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย รวมไปถึง แพทย์ผู้ให้การรักษาและโรงพยาบาลเอกชนที่ถูกกล่าวหาด้วย.