สลดนิสิตหญิงปี1คณะพยาบาล "ม.บูรพา" ดิ่งตึกมหาวิทยาลัยฆ่าตัวตาย ตร.พบเป็นโรคซึมเศร้า เครียดทางสมอง ติดเกมส์อินเตอร์เน็ต อธิการบดี "มบ."ยันไม่เกี่ยวรับน้อง เล็งอนาคตตรวจสุขภาพจิตก่อนเรียน
เหตุการณ์เศร้าสลด นิสิตหญิงมหาวิทยาลัยบูรพาโดดตึกฆ่าตัวตาย เปิดเผยเมื่อ พ.ต.ท.สมคิด เฮียงเสถียร สารวัตรเวร สภ.แสนสุข พ.ต.อ.สุภธีร์ บุญครอง ผกก.สภ.แสนสุข รับแจ้งเวลา 06.00 น.วันที่ 26 พฤษภาคม ว่ามีนิสิตโดดตึกเทา-ทอง 2 มหาวิทยาลัยบูรพา ถนนเทศบาล 6 อ.เมือง จ.ชลบุรี ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาขวาหัก และมีเลือดออกตามร่างกาย จึงนำส่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา ไปตรวจสอบทราบชื่อ น.ส.เทพสิรินทร์ จักรคำ อายุ 18 ปี อยู่บ้านเลขที่ 105/1 ต.สระแก้ว อ.สระแก้ว จ.ชลบุรี เป็นนิสิตเพิ่งสอบได้ปี 1 มหาวิทยาลัยบูรพา คณะพยาบาลศาสตร์ และเป็นบุตรสาวของ พ.ต.ท.ประจักษ์ จักรคำ พนักงานสอบสวน (สบ.3) สภ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว กับ นางยุพา จักรคำ
สอบสวนเบื้องต้นทราบว่า น.ส.เทพสิรินทร์ติดเล่นเกมส์ทางอินเตอร์เน็ต เพื่อนได้พยายามเตือนหลายครั้งแต่ยังไม่ยอมฟัง
ก่อนเกิดเหตุพบว่ามีอาการเชื่องซึมผิดปกติ และเดินออกจากห้องพัก บี 335 ซึ่งอยู่ชั้น 3 ของตึกเทา-ทอง 2 หลังจากนั้นกระโดดลงมาเพื่อฆ่าตัวตาย เพื่อนช่วยส่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา แต่อาการหนักนำส่งต่อโรงพยาบาลศูนย์ชลบุรีและเสียชีวิตลงเมื่อเวลา 12.20 น.ด้วยอาการสงบ
สลดนิสิตหญิงปี1ม.บูรพาติดเกมส์เน็ต-เครียด-ซึมเศร้า โดดตึกฆ่าตัวตาย
พ.ต.อ.สุภธีร์ กล่าวว่าสอบปากคำเพื่อนข้างเคียงและญาติผู้ตายทราบว่า น.ส.เทพสิรินทร์มีโรคประจำตัวคือซึมเศร้า เก็บตัวมาตลอดตั้งแต่มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา และไม่ยอมปรึกษาใคร
และยังพบว่า มีอาการเครียดทางสมองและเคยรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ก่อนที่จะมาเรียนที่มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คิดสั้นฆ่าตัวตาย นายสุชาติ อุปถัมภ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มบ.ว่านิสิตคนดังกล่าวมีผลการเรียนดีพอสมควร จึงติดโควต้าคณะพยาบาลศาสตร์ และเพิ่งมาที่มหาวิทยาลัยได้ไม่กี่วันก่อนกระโดดตึก น่าเสียดายมาก จากที่ได้พูดคุยกับผู้ปกครอง ทราบว่า นิสิตมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต และเคยรักษากับจิตแพทย์ แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าเพราะอะไร การกระโดดตึกในมหาวิทยาลัยครั้งนี้ ผู้ปกครองไม่ติดใจเพราะทราบปัญหา
"ส่วนที่หลายคนพยายามนำเรื่องนี้มาโยงว่าเป็นเรื่องของการรับน้องนั้น นิสิตเพิ่งมารายงานตัว และกิจกรรมรับน้องยังไม่เริ่ม แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้น คิดว่าในอนาคต มบ.อาจต้องตรวจสุขภาพจิตของนิสิตที่จะมาเรียนด้วย เพื่อหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก"อธิการบดี"มบ."กล่าว
นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า อยากฝากถึงผู้บริหาร และคณาจารย์มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ให้ช่วยดูแลนิสิตนักศึกษาที่เข้ามาเรียนอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะผู้ปกครองของนิสิตนักศึกษาที่คิดว่าบุตรหลานของตนเองมีปัญหาเรื่องของสุขภาพจิต ไม่ควรปิดบัง และแจ้งมหาวิทยาลัยทราบด้วยจะได้ช่วยกันดูแลนิสิตนักศึกษา ส่วนการตรวจสุขภาพจิตของนิสิตนักศึกษาก่อนเข้าเรียนเป็นเรื่องที่ดี แต่คงลำบาก เพราะจำนวนที่เข้าเรียนมีมาก และการตรวจสุขภาพจิตไม่ใช่จะดูกันได้ง่ายๆ ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ถ้ามีจิตแพทย์ที่เก่งจริงๆ ก็อาจจะดูได้ในระดับหนึ่ง
วันเดียวกัน ที่ห้องสุโขทัย โรงแรมท็อปแลนด์ อ.เมืองพิษณุโลก ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ
เรื่อง "การช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย" เนื่องจากตั้งแต่ปี 2542 มีอัตราเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า ปี 2551 ภาคเหนือเป็นภาคที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จตั้งแต่ปี 2548 สูงกว่าที่กำหนดไว้ ในปี 2551 กรมสุขภาพจิตพบผู้ป่วยทำร้ายตนเอง 10-30% มีสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้า ส่วนใหญ่ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายมักเกิดความคิดที่จะลงมือฆ่าตัวตายภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนตัดสินใจกระทำจริง และยังมีกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง
นพ.ประยุกต์ เสรีเสถียร ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 5.3% มาเป็น 5.9% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อีกทั้งยังมีคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเด็กและเยาวชนมากมาย อาทิ การฆ่าตัวตาย เป็นต้น ทั้งสาเหตุหลักมาจากครอบครัว เมื่อครอบครัวเกิดความแตกแยก เด็กขาดความรัก เกิดความกดดันทางด้านความคิด ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดและคิดหาทางออกด้วยวิธีต่างๆ