10จุดเฝ้าระวังพิเศษ 24ชม. รับมือเทศกาลปีใหม่หวั่นบึ้มซ้ำรอย′49

เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลร่วมกับทหาร และเทศกิจ ตั้งด่านเฝ้าระวัง 10 จุดเป็นพิเศษตลอด 24 ชั่วโมง

พร้อมตั้งด่านตรวจในเส้นทางเข้า-ออกกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยรอบ ป้องกันเหตุคนร้ายวางระเบิดป่วนงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือเคานท์ดาวน์ หลังจากที่เคยเกิดเหตุมาแล้วครั้งหนึ่งในคืนส่งท้ายปี 2549
โดยเมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 29 ธันวาคม พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้  พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ประชุมร่วมกับตัวแทนเทศกิจ และ กทม. ที่ห้องประชุมปารุสกวัน 1 บช.น. เพื่อวางมาตรการรักษาความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ และงานเคานท์ดาวน์ที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซา


ภายหลังการประชุม พล.ต.ต.วิบูลย์แถลงถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยงานเคานท์ดาวน์ที่เซ็นทรัลเวิลด์พลาซาว่า จะปิดการจราจรบริเวณแยกหลังสวนถึงแยกประตูน้ำ

ตั้งแต่เวลา 18.00-01.00 น. ของวันรุ่งขึ้น และจะประกอบกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ทหาร และเจ้าหน้าที่เทศกิจ กว่า 1,000 นาย ออกตรวจพื้นที่ตั้งแต่เวลา 16.00 น. พร้อมใช้ชุดอีโอดี (ชุดตรวจพิสูจน์และเก็บกู้วัตถุระเบิด) และสุนัขตำรวจประมาณ 10 ตัว ถ้าไม่พออาจมีสุนัขชาวบ้านร่วมด้วย นอกจากนี้จะมีกล้องวงจรปิดในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และขอสนับสนุนเพิ่มจาก กทม.อีก 13 ตัว ติดตั้งโดยรอบ


"สำหรับตู้โทรศัพท์สาธารณะบริเวณโดยรอบห้าง จะให้ชุดอีโอดีเข้าตรวจสอบก่อนงานเริ่ม จากนั้นจะปิดห้ามใช้เพื่อความปลอดภัย" พล.ต.ต.วิบูลย์กล่าว และว่า ตามนโยบายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง บอกว่าให้ดูจุดที่เคยเกิดเหตุ และจุดที่ต้องเฝ้าระวังต่อไป รวมทั้งจุดเคานท์ดาวน์ที่ต้องเข้มมากหน่อย ให้เน้นเรื่องการป้องกันการลอบวางระเบิดและการก่อความไม่สงบ ทั้งนี้ ทราบว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตอบรับมาร่วมเป็นประธานด้วย

พล.ต.ต.วิบูลย์กล่าวว่า นอกจากจุดเคานท์ดาวน์ใหญ่แล้ว จุดที่เคยเกิดเหตุระเบิดในวันส่งท้ายปีเก่า 2549 ในและนอก กทม.รวม 11 จุด ปีนี้ได้เพิ่มความเข้ม โดยตั้งด่านร่วมตำรวจ ทหาร เทศกิจ เฝ้าระวังพิเศษตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 10 จุด คือ

 1.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
 2.เมเจอร์รัชโยธิน
 3.ซีคอนสแควร์ บางนา
 4.เซ็นทรัล เวิล์ด พลาซ่า

ซึ่งทั้ง 4 จุดนี้เคยเกิดเหตุระเบิดในวันส่งท้ายปีเก่า ปี 2549  
 
 5.บ้านสี่เสาเทเวศร์
 6.พระตำหนักจิตรลดา รโหฐาน
 7.ถนนข้าวสาร
 8.ซอยนานา
 9.หน้าห้างพาต้าปิ่นเกล้า
10.สถานีขนส่งจตุจักร (หมอชิต2)




นอกจากนี้ จะมีการตั้งด่านตรวจทางเข้า-ออกรอบกรุงเทพฯ เน้นตรวจอาวุธตรวจระเบิดเป็นหลัก

ประกอบด้วย 1.ถนนวิภาวดี-รังสิต ยกระดับธูปะเตมีย์ 2.ถนนพหลโยธิน 3.ถนนแจ้งวัฒนะ 4.ถนนพระราม 4 และ 5.ถนนบรมราชชนนี ขาเข้า บริเวณต่างระดับฉิมพลี พล.ต.ต.วิบูลย์กล่าว


ด้าน พล.ต.ต.อำนวยกล่าวว่า วันที่ 30 ธันวาคม จะออกแผ่นปลิวแจกประชาชนที่จะมาร่วมเคานท์ดาวน์ว่า จะปฏิบัติตนอย่างไรบ้างเมื่อเข้าไปในพื้นที่

และแจ้งว่าจะปิดการจราจรตรงไหนช่วงเวลาไหน โดยจะแจก 40,000 แผ่น ซึ่งจะมีข้อความอวยพรปีใหม่ ให้ประชาชนอุ่นใจร่วมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และระวังตัวเพราะคราวที่แล้วมีมิจฉาชีพจำนวนมาก โดยกองรักษาการณ์รับแจ้งเรื่องล้วงกระเป๋าจำนวนมาก ครั้งนี้ใช้กล้องวงจรปิดของห้างเซ็นทรัลเวิลด์จับภาพพวกมิจฉาชีพ นักล้วงกระเป๋า หากประชาชนพบวัตถุและบุคคลต้องสงสัย ขอให้รีบแจ้งกองรักษาการณ์ ซึ่งมีทั้งหมด 3 จุด บริเวณเซ็นทรัลเวิลด์ โดยจะมีกำลังตำรวจ ทหาร 4-5 กองร้อย ร่วมด้วยเทศกิจ และ รปภ.ห้าง รวมแล้วหลายพันนาย พล.ต.ต.อำนวยกล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า มีสิ่งบอกเหตุการก่อความไม่สงบหรือไม่ พล.ต.ต.อำนวยกล่าวว่า เป็นข่าวเก่าให้เฝ้าระวัง แต่ข่าวใหม่ยังไม่มีอะไรเพิ่มเติม และจุดที่แจ้งเตือนก็มีการเกาะติดแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ทางการข่าวมุ่งที่จะดิสเครดิต ไม่ถึงกับประหารใคร

พล.ต.ต.อำนวยยังกล่าวถึงโครงการฝากบ้านกับตำรวจในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ว่า ปีนี้มีผู้ฝากบ้านรวมทั้งสิ้น 537 หลัง แยกเป็น บก.น.1 จำนวน 13 หลัง, บก.น.2 จำนวน 113 หลัง, บก.น.3 จำนวน 46 หลัง, บก.น.4 จำนวน 117 หลัง, บก.น.5 จำนวน 76 หลัง, บก.น.6 จำนวน 30 หลัง, บก.น.7 จำนวน 49 หลัง, บก.น.8 จำนวน 33 หลัง และ บก.น.9 จำนวน 60 หลัง

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 และกล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 1.8 แสนล้านบาท แม้จะมีมาตรการป้องกันภัยต่อเนื่องทุกปี ดังนั้น ได้มีการสั่งการปรับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยได้ประสานกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนบูรณาการอย่างเข้มงวด และกำหนดเป้าหมายการลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตให้น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา

"แนวทางสำคัญคือ การควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ยานพาหนะ เช่น การขับรถเร็ว เมาแล้วขับ หลับใน การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัยขณะขับขี่และโดยสาร ทั้งนี้ทุกจุดตรวจควรมีการขึงเชือกไว้ 7-8 เมตร เพื่อให้ผู้ขับขี่เดินทดสอบว่ามีอาการเมาหรือไม่ เดินตรงหรือไม่ หากมีอาการเมา ควรให้พักอยู่ที่จุดตรวจประมาณ 30 นาที" นายพีรพลกล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์