เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ น.ส.กุลภา วจนสาระ นักวิจัยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนองานวิจัย
"เพศแบบไหนในห้องสมุดและข่าว : หนังสือ เอกสารวิชาการ ข่าว และบทความในฐานข้อมูลสุขภาวะทางเพศ" ในงานสัมมนาวิชาการ "วิถีเพศ วิถีสุขภาวะ" โดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า การสำรวจสื่อในห้องสมุดมหาวิทยาลัยของรัฐขนาดใหญ่ 5 แห่ง ตั้งแต่ปี 2501-2550 ด้วยการรวบรวมบทความ หนังสือ เอกสารวิชาการ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ ข่าว และสื่อออนไลน์ พบมีเรื่องเพศจำนวนมากที่ถูกกล่าวถึง
น.ส.กุลภา กล่าวอีกว่า มีสื่อที่เสนอเนื้อหาความรู้อนามัยเจริญพันธุ์ 63% ของข้อมูลทั้งหมด ขณะที่สื่อออนไลน์ มีการให้ความรู้ 17%
ส่วนสื่อประเภทข่าว เน้นเสนอประเด็นความรุนแรงและการละเมิดทางเพศมากที่สุด 64% แต่มีการนำเสนอความรู้เรื่องเพศที่ถูกต้องเพียง 8% เท่านั้น การเก็บข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบข่าวบทความเกี่ยวกับเรื่องเพศทั้งหมด 17,529 รายการ เป็นการเสนอข่าวข่มขืนมากที่สุด 6,638 รายการ หรือ 38% รองลงมา ความรุนแรงทางเพศ 4,612 รายการ หรือ 26% อนามัยเจริญพันธุ์ 2,022 รายการ 12% การเรียนรู้เรื่องเพศ 1,662 รายการ หรือ 9% ความหลากหลายทางเพศ 1,310 รายการ หรือ 7% ปัญหาการทำแท้ง 797 รายการ หรือ 5%
"ข้อมูลที่สะท้อนปัญหาสังคม คือ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีเหยื่อถูกข่มขืน 1,379 ราย เหยื่อเป็นผู้หญิง 98.3% เหยื่อมากกว่าครึ่งหนึ่ง 58% เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งเหยื่อที่เป็นเด็กต่ำกว่า 18 ปี กลุ่มนี้ยังถูกข่มขืนต่อเนื่องซ้ำซากถึง 93% โดยเป็นการถูกข่มขืนจากคนในสายเลือดเดียวกันมากที่สุด 89% ขณะที่เหยื่อ 1 ใน 4 ถูกรุมโทรม อีก 16% ถูกข่มขืนแล้วฆ่า" น.ส.กุลภา กล่าว
น.ส.กุลภา กล่าวด้วยว่า การข่มขืนในสังคมไทยมีรากเหง้ามาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้กระทำและถูกกระทำ โดยเฉพาะเด็กหรือผู้หญิงที่ไม่กล้าขัดขืน
เพราะผู้กระทำเป็นชายหรือคนในครอบครัว เช่น พ่อ ลุง น้า พี่ หรือ ครู ซึ่งมีบทบาทและอำนาจเหนือกว่า สถานการณ์ด้านเพศขณะนี้ สังคมกำลังเผชิญหน้ากับความรุนแรง การละเมิดทางเพศ การข่มขืน แต่ฐานข้อมูลทางวิชาการยังไม่มากพอ และไม่เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนสื่อเน้นการนำเสนอแต่ภาพของความรุนแรง การละเมิดทางเพศ แต่ให้ความรู้น้อยมาก จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดและพัฒนาเพื่อเป็นฐานความรู้ให้สังคม
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผจก.แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลความรู้งานวิจัยที่ได้จากการประชุมวิชาการ "วิถีเพศ วิถีสุขภาวะ" แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ จะนำงานวิจัยไปจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสุขภาวะทางเพศ 3 ด้าน
คือ 1.ความรุนแรงทางเพศ 2.การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม 3.เรื่องเพศกับเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เสนอต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในวันที่ 11-13 ธ.ค.นี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สุขภาวะทางเพศถูกจัดลำดับความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติในด้านสุขภาพ น.ส.ณัฐยา กล่าวด้วยว่า การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์สุขภาวะทางเพศทั้ง 3 ด้าน มีแนวโน้มรุนแรงและซับซ้อนขึ้นจนกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ มีคดีอาชญากรรมทางเพศ มีจำนวนเยาวชนที่เป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำมากขึ้น พิจารณาจากการนำเสนอข่าวเรื่องเพศในสื่อต่างๆ เด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี กลายเป็นกลุ่มถูกละเมิดทางเพศมากที่สุด ปัญหาที่เกิดสอดคล้องกันทั้งระบบ เมื่อมีความรุนแรง การละเมิดทางเพศ จะตามมาด้วยปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบ มีการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย จนเสียชีวิตสูงถึง 29% ขณะที่มีแนวโน้มว่าโรคเอดส์จะกลับมาระบาดในประเทศไทยอีกครั้ง