นายชัชวาล พิศดำขำ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กล่าวถึงกรณี มีประชาชนจำนวนมากกำลังให้ความสนใจที่จะจับตัวเหี้ย หรือ ตัวเงินตัวทอง ออกมาขายเนื่องจากกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น และสร้างความรบกวนให้กับผู้ที่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้บริเวณที่มีสัตว์เหล่านี้อาศัยอยู่ หลังจากทราบจากข่าวว่า สัตว์เลื้อยคลานดังกล่าวสามารถนำไปขายได้ถึงกิโลกรัมละพันกว่าบาท โดยนายชัชวาล กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว ตัวเหี้ย ตะกวด หรือตัวเงินตัวทอง เหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศทั้งสิ้น เพราะจะช่วยกำจัดของเสีย รวมไปถึงสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในธรรมชาติ นอกจากนี้ ตัวเหี้ย ยังจัดอยู่ในประเภท สัตว์คุ้มครอง ตามกฎหมาย ห้ามประชาชนล่า หรือ ซื้อขาย มิฉะนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีหากเจ้าหน้าที่จับได้
อย่างไรก็ตามทราบว่า สัตว์เหล่านี้บางทีก็อาจจะสร้างความตกใจ หรือ เดือดร้อนรำคาญให้กับมนุษย์ได้บ้าง
แต่วิธีทางที่ดีที่สุดคือพยายามหลีกเลี่ยง และใช้วิธีไล่ออกไป อย่าไปทำร้าย เพราะสัตว์พวกนี้จะไม่ทำร้ายคนอยู่แล้ว “ที่สำคัญห้ามที่จะไปจับ หรือทำร้าย เพราะทางกฎหมายจะถือว่าเป็นการล่า เจ้าหน้าที่สามารถจับดำเนินคดีได้ทันทีเพราะ ตัวเหี้ย เป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมาย ส่วนที่เป็นข่าวว่ามีการนำไปขายได้ราคากิโลละพันกว่าบาทนั้นก็ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่ แต่ขอเตือนว่า ประชาชนไม่ควรเชื่อ และจับมันไปขายเด็ดขาด เพราะนอกจากที่จะผิดกฎหมายแล้ว ยังทำให้ระบบนิเวศเสียไปอีกด้วย” นายชัชวาลกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของส่วนคุ้มครองสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ในช่วงเดือนตุลาคม ถือเป็นช่วงฤดูกาลที่จะเริ่มมีการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายมากขึ้น
เนื่องจากเข้าใกล้ฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคในต่างประเทศ เช่น จีน ,เวียดนาม มีความต้องการมากขึ้น ทำให้มีออเดอร์จากพ่อค้ามายังขบวนการค้าสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสัตว์ จำพวก ลิ่น,งู,เต่า และเสือ ซึ่งจะได้รับความนิยมสูงสุด รวมไปถึง ตัวเหี้ย เพราะนอกจากที่จะนำเนื้อไปทำเป็นอาหารแล้ว ยังใช้หนังไปทำประโยชน์อย่างอื่นด้วย
“ตอนนี้จะพบว่าเริ่มมีการจับกุมกระบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่ามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นช่วงที่เข้าหน้าหนาวแล้ว ตัวเหี้ยก็ถือว่าเป็นสัตว์ที่กำลังได้รับความนิยม เพราะมีประโยชน์หลายอย่างสำหรับผู้ที่นิยมในต่างประเทศ แม้ว่าในประเทศไทยเราจะยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานฯ เคยมีนโยบายจะหาแนวทางในการส่งเสริมและเปิดให้มีการทำฟาร์มเลี้ยงตัวเหี้ยขึ้นมา เพราะมีอยู่เยอะ ซึ่งหากจะทำได้จะต้องมีการแก้กฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองเหล่านี้ได้ เพราะสามารถนำมาทำเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ และที่ผ่านมาก็มีประชาชนมาสอบถามจำนวนมากว่า จะสามารถเพาะพันธุ์ตัวเหี้ยได้หรือไม่ เพราะมีอยู่เยอะ แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่ได้แก้กฎหมาย แต่ถ้าทำได้จะนับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่นำเงินเข้าประเทศได้มากทีเดียว” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าว
อย่างไรก็ตามในขณะนี้ประชาชนไม่ควรที่จะไปทำร้ายสัตว์ชนิดนี้ เพราะผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่สามารถเอาผิดได้
ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่า กลุ่มพันธมิตร ได้นำตัวเหี้ยมา ผูกปากโชว์ตัว ก็ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นการทรมานสัตว์คุ้มครอง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการเพราะไม่อยากให้เกิดปัญหา