ภูสูงเสียดฟ้าคร่าชีวิตผู้คนมาแล้วหลายศพ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงทำให้มีผู้สังเวยชีวิตให้ธรรมชาติมานักต่อนัก!! เหยื่อรายล่าสุดเป็นพยาบาลสาวร.พ.สมิติเวช ซึ่งเหมารถตู้จากกรุงเทพฯ ไปเที่ยวภูชี้ฟ้าพร้อมกับเพื่อนๆ ร่วม 40 ชีวิต เมื่อไปถึงภูชี้ฟ้าก็สว่างพอดีจึงรีบขึ้นภูเพื่อไปรอถ่ายรูปทะเลหมอกให้สมความตั้งใจ
แต่ขณะไปยืนถ่ายรูปที่มุมยอดฮิต หรือที่เรียกกันว่า "จมูกสิงโต" เหยื่อสาวเกิดพลาดไปเหยียบหญ้าบริเวณปากเหวซึ่งนึกว่าเป็นพื้นดินเลยทำให้เสียหลักตกเหวลงมาอย่างน่าเสียวไส้ สังเวยชีวิตอย่างน่าอนาถ
เหตุสลดครั้งนี้เกิดขึ้นตอนตี 5 วันที่ 13 ม.ค. พ.ต.ต.วินธัย กิตติธีราวัฒน์ สารวัตรเวร สภ.เทิง จ.เชียงราย รับแจ้งจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวที่ภูชี้ฟ้า หมู่บ้านร่มฟ้าไทย หมู่ 24 ต.ตับเต่า ตั้งอยู่ในเขตวนอุทยานภูชี้ฟ้า ว่ามีนักท่องเที่ยวพลัดตกจากหน้าผาเสียชีวิต จึงประสานเจ้าหน้าที่วนอุทยานฯ หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานจู่โจม หน่วยกู้ภัยของฝ่ายปกครองเดินทางไปตรวจสอบ
เมื่อไปถึงพบนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่มารวมตัวกันอยู่ที่หน้าลานก่อนถึงภูชี้ฟ้าด้วยอาการตื่นตระหนก
ทราบว่านักท่องเที่ยวที่ประสบเหตุชื่อน.ส.พัณณ์ชิตา สาครจันทร์ อายุ 26 ปี มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 33 หมู่ 2 ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง เป็นเจ้าหน้าที่พยาบาลโรงพยาบาลสมิติเวช กรุงเทพฯ ซึ่งตกลงจากยอดภูสูง 200 เมตรหล่นลงไปด้านล่างซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านเชียงตอง เขตพัฒนาที่ 2 เมืองปากทา แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว โดยศพยังคาอยู่ก้นเหวตรงนั้น
ชุดกู้ภัยเดินลัดเลาะผ่านช่องเขาซึ่งเป็นหน้าผาสูงสลับกับทุ่งหญ้าที่รกชัฏ
บุกป่าฝ่าดงลงไปยังพื้นล่างเพื่อค้นหาร่างของ "พัณณ์ชิตา" แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าเขาและสูงชัน จึงทำให้การค้นหาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมองไม่เห็นศพ ค้นหาอยู่นานร่วม 3 ชั่วโมงก็ยังไม่พบ สุดท้ายเจ้าหน้าที่จึงต้องใช้วิธีกดโทรศัพท์เข้ามือถือของ "พัณณ์ชิตา" เพื่อฟังเสียงว่าอยู่ตรงไหน จนกระทั่งเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นจึงพบร่างน.ส.พัณณ์ชิตา นอนสิ้นใจตายในสภาพศพถูกกระแทกอย่างแรงจนใบหน้าและศีรษะแตกละเอียด ตายในชุดเสื้อยืดสีขาวทับด้วยเสื้อไหมพรมสีน้ำตาล และเสื้อแจ๊กเกตสีดำ สวมกางเกงยีนส์ จึงนำร่างขึ้นมาจากก้นเหวส่งโรงพยาบาลอำเภอเทิง ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของเพื่อนฝูงและนักท่องเที่ยวบนภูชี้ฟ้า
ใครจะไปคิดว่า "พัณณ์ชิตา" จะเอาชีวิตมาทิ้งแบบนี้
เพื่อนพยาบาลสาว เล่าว่า ก่อนหน้านี้น.ส.พัณณ์ชิตา มาเที่ยวกับเพื่อนร่วมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่ด้วยกันที่โรงพยาบาลสมิติเวช โดยมากันทั้งหมด 40 คน มาถึงภูชี้ฟ้าตอนเช้ามืดของวันเดียวกัน โดยคณะส่วนใหญ่ได้รวมตัวกันอยู่ที่ลานจอดรถของวนอุทยานฯ ซึ่งอยู่ด้านล่างภูชี้ฟ้าลงไปประมาณ 700 เมตร แต่น.ส.พัณณ์ชิตาและเพื่อนชายหญิงรวม 4 คนแยกเดินขึ้นไปบนภูชี้ฟ้าก่อน โดยบอกกับทุกคนว่าจะขึ้นไปรอเก็บภาพทะเลหมอกที่สวยงาม ถ้าสายกลัวจะไม่ทัน
แต่ปรากฏว่าเมื่อขึ้นไปถึงภูชี้ฟ้าซึ่งเป็นหน้าผาสูง น.ส.พัณณ์ชิตาเดินแยกออกจากกลุ่มห่างจากยอดภูประมาณ 20 เมตรไปตรงจุดที่เรียกว่า "จมูกสิงโต"
ซึ่งเป็นจุดที่นิยมถ่ายภาพกัน ด้วยความมืดและไม่ชำนาญเส้นทาง จึงพลัดตกลงไปที่ปล่องหินบริเวณหน้าผา ร่างไปกระแทกกับโขดหินด้านล่าง กระเด็นตกลงต่อไปกลางผืนป่าที่อยู่ในเขตติดต่อกับสปป.ลาว โดยที่ใครก็ช่วยไม่ทัน
"ตอนนั้นเพื่อนที่ไปด้วยกันยืนอยู่ที่หน้าผา โดยหันหน้าออก 2 คน ส่วนพัณณ์ชิตากับดิฉันนั่งยองๆ หันหลังให้หน้าผา แต่ไม่รู้ว่าพัณณ์ชิตาคิดอย่างไร จึงลุกขึ้นเดินอ้อมด้านหลังดิฉัน และเดินลงไปทางลาดชันด้านหลังซึ่งเป็นจุดชมวิวสำหรับถ่ายภาพอีกจุดหนึ่ง แต่พอลับตาก็ได้ยินเสียงร้องเฮ้ยดังลั่น ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่เห็นร่างของพัณณ์ชิตาอีกเลย เมื่อพวกเราวิ่งไปดูก็พบว่าตรงนั้นเป็นปล่องเขา มีหญ้าที่ลื่นอยู่ตามขอบเหว ซึ่งคาดว่าพัณณ์ชิตาคงจะเหยียบหญ้าและเกิดลื่นตกลงไปเสียชีวิตด้านล่าง" น.ส.จันทร์จิรา ชุ่มเย็น อายุ 26 ปี เพื่อนน.ส.พัณณ์ชิตาให้การกับเจ้าหน้าที่เสียงสั่น
เหตุการณ์ครั้งนี้เจ้าหน้าที่สันนิษฐาน ว่า น.ส.พัณณ์ชิตาลื่นตกลงปล่องหินซึ่งเป็นรูใหญ่และมีหญ้าขึ้นรกอยู่โดยรอบ
โดยคงคิดว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นหินราบเรียบเหมือนกันหมด ประกอบกับหมอกลงและมืดเลยทำให้ผู้ตายไม่ทันระวัง เมื่อเดินอ้อมหลังเพื่อนฝูงลงไปจึงเกิดลื่นและพลัดตกลงไปเสียชีวิต หลังเรื่องนี้เป็นข่าวแพร่สะพัดออกไป นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกคำสั่งให้สร้างรั้วชั่วคราวในบริเวณที่อาจจะเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว รวมทั้งปรับปรุงการทำป้ายเตือนเรื่องการใช้เส้นทางใกล้หน้าผาให้เพิ่มมากขึ้นที่ภูชี้ฟ้าแล้ว โดยในบริเวณที่จะก่อให้เกิดอันตรายนั้น ขอให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดคอยดูแลอยู่อย่างทั่วถึง แต่เท่าที่ได้รับรายงานทราบว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ก็เตือนนักท่องเที่ยวตลอด แต่เหตุที่เกิดดังกล่าวอาจจะเป็นเพราะว่าในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเช้าเกินไป เจ้าหน้าที่อาจจะยังเข้าไปไม่ถึง
"สำหรับการทำรั้วเพื่อความปลอดภัยนั้น คงจะไม่จำเป็นต้องแจ้งให้กับทางการประเทศลาวทราบ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นของประเทศใด เพราะการกั้นรั้วเป็นการทำเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดต่อนักท่องเที่ยว โดยมองในแง่ของความปลอดภัยมากกว่า รั้วที่จะสร้างเป็นรั้วเตี้ยๆ สูงประมาณ 1 ฟุต และป้ายเตือนเล็กๆ ห้ามเข้าเหมือนที่รถไฟฟ้าขีดเส้นเหลืองบอกว่าห้ามเหยียบเส้นนี้ เพราะเป็นพื้นที่อันตราย ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างถาวร คำนึงในเรื่องความปลอดภัยเท่านั้น ไม่อิงผลประโยชน์ใดๆ ด้านพรมแดน ก่อนหน้านี้เคยคิดจะสร้างป้ายเตือนขนาดใหญ่ แต่ทางการลาวประท้วงไม่ให้ทำ ครั้งนี้เป็นรั้วและป้ายเล็กๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร" นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว
การล้อมรั้วก็เป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องพอเหมาะพอควร ไม่ใช่ใหญ่โตจนบดบังทิวทัศน์อันสวยงามจนหมดสิ้น ไม่ใช่จะดูทะเลหมอกเห็นแต่ทะเลป้าย-ทะเลรั้ว ความรู้ ความเข้าใจและความไม่ประมาทของนักท่องเที่ยวสำคัญที่สุด