สยองปลาปักเป้าโผล่ในปลาร้า ชาวบ้านตั้งวงกินส้มตำปลาร้า เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน แขน-ขาชา หามส่ง รพ.บ้านค่าย ระยอง 3 ราย ออกตรวจตลาดเจอขายไปแล้ว 3 ปี๊บครึ่ง ที่เหลือครึ่งปี๊ปสั่งอายัดห้ามจำหน่าย เผยส่งมาขายจากนครสวรรค์
เหตุการณ์ผู้ป่วยกินส้มตำปลาร้าถูกหามส่งโรงพยาบาล หลังพบปลาร้าทำจากปลาปักเป้า เปิดเผยเมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 15 มกราคม นพ.กฤษณ์ ปาลสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญ 8 ด้านเวชกรรม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ระยอง นพ.สมชาย ศุภวาทิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านค่าย อ.บ้านค่าย จ.ระยอง พร้อมด้วย นายปรเมศร์ อรุณ นักวิชาการประมง เข้าร่วมประชุมที่โรงพยาบาลบ้านค่าย หลังได้รับรายงานว่า มีผู้กินส้มตำปลาร้าแล้วเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง แขน-ขาอ่อนแรง นิ้วมือเกิดอาการชา ถูกนำตัวมารักษาที่โรงพยาบาลบ้านค่าย 3 คน
นพ.กฤษณ์ กล่าวว่า อาการของผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลทั้งสามคน เกิดจากการรับประทานปลาร้าในส้มตำที่ทำจากปลาปักเป้า
โดยเมื่อมีการนำปลาปักเป้าน้ำจืดมาตำจนเนื้อแหลก ทำให้พิษในปลาปักเป้าแพร่กระจาย เมื่อรับประทานเข้าไปร่างกายจึงเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน แขน-ขาอ่อนแรง เกิดอาการชาตามร่างกาย ซึ่งหลังได้รับการรักษาจากแพทย์แล้วอาการผู้ป่วยเริ่มดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินการควบคุมโรคได้พยายามค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่เพิ่มเติม พร้อมทั้งให้สุขศึกษาเรื่องพิษจากปลาปักเป้า และไปตรวจสอบร้านขายของในหมู่บ้านที่ผู้ป่วยไปซื้อมา โดยเก็บตัวอย่างปลาร้าที่ยังเหลืออยู่ในร้าน ส่งตรวจหาว่ามีปักเป้าปนอยู่ หรือมีสารพิษจากปักเป้าปนอยู่อีกหรือไม่
"ได้แจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการพบปักเป้าอยู่ในปลาร้า นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองยังให้หน่วยเคลื่อนที่สอบสวนหาแหล่งของปลาร้า เพื่อติดตามหาต้นตอว่าตั้งใจนำปักเป้ามาทำปลาร้าจำหน่ายให้ผู้บริโภคหรือไม่" นพ.กฤษณ์ กล่าว
นพ.กฤษณ์ กล่าวในเวลาต่อมาว่า เมื่อเวลา 14.00 น.
ได้เดินทางไปตรวจสอบร้านขายของชำที่จำหน่ายปลาร้า ที่ตลาดหนองกรับ พร้อมสอบถามแม่ค้าขายปลาร้าจนทราบว่า ก่อนหน้านี้มีคนมาส่งปลาร้า 4 ปี๊บ ขายไปแล้วเหลือเพียงครึ่งปี๊บ จึงได้อายัดห้ามจำหน่าย ขณะเดียวกัน มีพ่อค้ากำลังขนปี๊บปลาร้ามาส่งให้ใหม่ แต่ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีปลาปักเป้าเจือปน สอบถามถึงที่มาของปลาร้าอัดปี๊บ ทราบว่ามาจากโรงงานผลิตปลาร้าจาก จ.นครสวรรค์
"จากการตรวจปลาร้าที่ขายตามแผงร้านค้าตลาดหนองกรับที่บรรจุถุงพลาสติกจำหน่าย ไม่พบมีเนื้อปลาปักเป้าเจือปนแต่อย่างใด แต่ได้ขอร้องให้ผู้ค้าปลาร้างดจำหน่าย ส่วนที่ซื้อมาจำหน่ายขอให้นำมาคืนที่สถานีอนามัยหนองกรับเพื่อส่งเข้าตรวจห้องแล็บ ซึ่งก็ได้ประสานความร่วมมือในการเร่งตรวจว่ามีเนื้อปลาปักเป้าเจือปนหรือไม่ เบื้องต้นเห็นว่าโรงงานที่ผลิตน่าจะมีความใส่ใจในรายละเอียดของที่มาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต" นพ.กฤษณ์ กล่าว