แถลงจับมะยากี แต่ห้ามถามซัก เงินในท่อ30ล.

ตร.คุมตัว "มะยากี" เจ้าของเงิน 30 ล้าน แถลง หลังรวบได้ที่ชายแดนไทย-มาเลย์ ยันเป็นเงินจากค้าเฮโรอีน ไม่เกี่ยวไฟใต้ แฉพฤติกรรมนำยาบ้า-ผงขาวจากเหนือส่งขาย 3 จว.ใต้ ทำเป็นขบวนการใหญ่ จับกุมได้แล้ว 16 คน แต่สั่งห้ามนักข่าวซักถึงจำนวนเงินของกลางที่แท้จริง โฆษกกอ.รมน. ระบุต้องขยายผลต่อไปเกี่ยวข้องกับไฟใต้หรือไม่ ผบ.ทบ.ชี้หากผลสอบยักยอกเงินของกลาง มีใครเกี่ยวข้องต้องโดนทั้งอาญาและวินัย "อดุลย์" สรุปตั้งแต่ปี 2447 ถึงปัจจุบัน มีคดีความมั่นคง 4,915 คดี พิพากษาแล้ว 100 คดี ตัดสินประหาร 8 คุกตลอดชีวิต 18 คดี

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 22 ต.ค.

ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ รองผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.วุฒิ ลิปตพัลลภ ผบช.ปส. พล.ต.ต.อดิเทพ ปัญจมานนท์ รองผบช.ปส. นายชาติชาย สุทธิกลม ที่ปรึกษาสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมแถลงจับกุมนายมะยากี หรือกีแบล็ก ยะโกะ อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 5 ต.สักน้ำแต้ว อ.สะเดา จ.สงขลา ผู้ค้ายาเสพติดระดับหัวหน้ากลุ่ม ตามหมายจับศาลอาญา ลงวันที่ 12 ส.ค.2550 และหมายจับศาลอาญา ลงวันที่ 12 ต.ค.2550 ข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เฮโรอีน) ไว้ในความครอบครอง เพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต

พล.ต.อ.วงกตกล่าวว่า

นายมะยากี เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำยาเสพติด ทั้งยาบ้าและเฮโรอีนจากพื้นที่ภาคเหนือ ส่งไปจำหน่ายในพื้นที่ภาคใต้ และยังส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา นายมะยากี ได้รับติดต่อจากนายกิตติศักดิ์ ดอรอเอ็ง ผู้ต้องขังคดียาเสพติด ให้นำเฮโรอีนและยาบ้าจากภาคเหนือไปจำหน่ายยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผู้ต้องหาให้นายมะสะอูดี เจะเฮง และนายอาอามัดสัน ดอเล๊ะ นำเฮโรอีนชนิดน้ำหนัก 17.9 กิโลกรัม และยาบ้า 15,400 เม็ด ซุกซ่อนในรถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ทะเบียน สห 8823 กทม. จาก อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ นำไปจำหน่ายยังพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ถูกจับกุมได้พร้อมของกลางในท้องที่สภ.ต.ทรงธรรม จ.กำแพงเพชร

รองผบ.ตร.กล่าวต่อว่า

จากการสอบสวนขยายผล และรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ผู้ต้องหาทั้ง 2 ให้การตรงกัน และรับสารภาพว่าเป็นเครือข่ายยาเสพติดของนายมะยากี ทางตำรวจปส.จึงขออนุมัติหมายจับ ต่อมาสามารถจับกุมนายสรธัญ คีรีบูนแดนไพร อายุ 22 ปี นายรุสลี เจะฮาแม อายุ 36 ปี และนายสุเจนต์ ศรีวิลาศ อายุ 36 ปี พร้อมของกลางเฮโรอีน น้ำหนัก 4.2 กิโลกรัม โดยทั้งหมดซัดทอดว่านายมะยากี เป็นผู้สั่งการทั้งหมด ในเครือข่ายค้ายาเสพติดของนายมะยากี รวมผู้ต้องหาที่ตำรวจสามารถจับกุมได้แล้ว 16 คน

พล.ต.อ.วงกตกล่าวอีกว่า

ตำรวจรวบรวมข้อมูลการค้ายาเสพติดของนายมะยากี จากหน่วยงานทั้งป.ป.ส. ทหาร จากนั้นเข้าตรวจค้นบ้านผู้ต้องหา ได้เงินของกลางมาจำนวน 30 ล้านบาท และเงินจำนวนดังกล่าวขณะนี้ถึงมือเจ้าหน้าที่ป.ป.ส.เรียบร้อยแล้ว เงินทั้งหมดจะเข้าระบบกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อตรวจยึดเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป ต่อมาวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจปส.ประสานขอความร่วมมือไปยังตำรวจปส.ของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย จนสามารถจับกุมตัวนายมะยากีได้ที่เขตแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ด้าน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ขณะจะหลบหนีออกนอกประเทศ และจากการสอบปากคำผู้ต้องหารับสารภาพ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากกรณีที่มีบุคคลบางกลุ่มออกมาพูดถึงเงินของกลางดังกล่าวว่าขณะตรวจยึดมีจำนวนเงินมากกว่า 30 ล้านบาท รองผบ.ตร.กล่าวว่า

ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะนี้เงินอยู่ที่ป.ป.ส.เรียบร้อยแล้ว หากผลสอบออกมาว่ามีเงินของกลางมากกว่านี้ ก็ต้องยึดคืนกลับมาเป็นของแผ่นดินทั้งหมด เมื่อถามต่อว่าเป็นเงินที่ใช้สนับสนุนการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ รองผบ.ตร.กล่าวว่า เป็นเงินที่ได้มาจากการค้าเฮโรอีนเพียงอย่างเดียว

ต่อข้อถามว่าแล้วเงินรางวัลที่เป็นส่วนแบ่งของชุดจับกุมจะจัดการอย่างไร ด้านนายชาติชาย สุทธิกลม ที่ปรึกษาป.ป.ส.กล่าวว่า

เงินของกลาง 30 ล้านบาทที่ตรวจยึดได้ พนักงานสอบสวนส่งมอบให้ป.ป.ส.แล้ว ต่อไปขึ้นอยู่ในขั้นตอนของกฎหมายเข้าสู่กระบวนการทางศาล สำหรับส่วนแบ่งจากของกลางทั้งหมด แบ่งออกเป็นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม 25 เปอร์เซ็นต์ ผู้ชี้เบาะแส 15 เปอร์เซ็นต์ หลังจากสิ้นสุดกระบวนการในชั้นศาลแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า

 ระหว่างแถลงข่าว ทางพล.ต.อ.วงกต ขอร้องสื่อมวลชนไม่ให้ซักถามผู้ต้องหา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องจำนวนเงินของกลางที่แท้จริงที่ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไปได้ โดยกรณีนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการ

ต่อมาที่ศาลอาญา พ.ต.ท.จักษ์ ศรีกลชีพ พนักงานสอบสวน บช.ปส. ควบคุมตัว นายมะยากี เพื่อมาขออำนาจฝากขังต่อศาลเป็นครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. จนถึงวันที่ 2 พ.ย.50 โดยระบุในคำร้องว่า ตำรวจปส.สืบสวนและจับกุมกลุ่มผู้ต้องหา เป็นสมาชิกเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดทางภาคเหนือ ประกอบด้วย นายสรธัญ คีรีบูนแดนไพร นายสุเจนต์ ศรีวิลาส และนายรุสลี เจะฮาแม ลักลอบนำยาเสพติดไปจำหน่ายในพื้นที่ภาคใต้และต่างประเทศ โดยจับกุมได้พร้อมของกลางเฮโรอีนน้ำหนัก 4.5 กิโลกรัม ราคาประมาณ 3,500,000 บาท บริเวณริมถนนโชตนา ใกล้สถานีขนส่งช้างเผือก ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ต่อมาศาลอาญาอนุมัติหมายจับผู้ต้องหา และสามารถติดตามจับกุมนายมะยากี ได้ที่ริมแม่น้ำโก-ลก ต.สุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา

ท้ายคำร้องทางพนักงานสอบสวนยังขอการคัดค้านประกันตัวผู้ต้องหาไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด

โดยระบุว่าเนื่องจากคดีมีความผิดที่มีอัตราโทษสูงเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และกระทำในลักษณะนี้ที่เป็นขบวนการ โดยไม่ขอตัวกลับไปสอบสวนเพิ่มเติม ศาลสอบถามผู้ต้องหาแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขัง พร้อมทั้งส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป

ด้าน พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กล่าวถึงการจับกุมนายมะยากีว่า

 ถือเป็นการประสานทำงานร่วมกันระหว่างไทยและมาเลเซีย ทางมาเลเซียได้แจ้งข้อมูลของนายมะยากีให้ทางการไทยทราบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจงข้อมูลการเคยเข้ามาหลบซ่อนของนายมะยากีในมาเลเซียตลอดเวลา ทำให้สามารถจับกุมนายมะยากี ได้ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างไทยและมาเลเซีย โดยจะขยายผลต่อไปถึงจำนวนเงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด ว่าถูกนำไปว่าจ้างกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่หรือไม่

โฆษกกอ.รมน. กล่าวต่อว่า

ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบยอดเงินของกลาง 30 ล้านบาท ทางป.ป.ส.ตั้งคณะกรรมการสอบถึงข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร ทั้งยอดเงินและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ต้องหาที่จับได้ เพื่อตรวจหาข้อเท็จจริง ต่อไป เชื่อว่าจะสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากวันที่จับกุมมีเจ้าหน้าที่อยู่ในเหตุการณ์หลายฝ่าย และบันทึกภาพไว้ทุกขั้นตอน

ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า

ต้องว่าไปตามหลักฐาน เพราะเงินเป็นของกลาง เมื่อมีการกล่าวหาต้องไปเอาคืนมา โทษก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ถ้าใครไปเกี่ยวข้องต้องพิจารณาตามกฎหมาย ทั้งอาญาและวินัยทหาร แต่อยู่ที่ว่ามีความตั้งใจจะทำอย่างไร

วันเดียวกัน เวลา 09.00 น. ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า จ.ยะลา

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองผบ.ตร. เดินทางมาติดตามความคืบหน้าคดีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้ช่วยผบ.ตร. ในฐานะผบ.ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2547 ถึงเดือนก.ย.2550 มีคดีเกี่ยวกับความมั่นคง 4,915 คดี ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 100 คดี โดยพิพากษาประหารชีวิต 8 คดี จำคุกตลอดชีวิต 18 คดี และจำคุก 36 คดี

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์