ปัดคุกไทยวัณโรคตรึม ยันมีแค่1%รักษามาตรฐานWHO
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงถึงกระแสข่าวการแพร่ระบาดเชื้อวัณโรคในเรือนจำหลายแห่ง รวมทั้งมีการแพร่เชื้อไปยังผู้ต้องขังรายอื่นกว่าร้อยละ 70
โดยจากสถานการณ์วัณโรค ประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่ม 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง ซึ่งค่าเฉลี่ยประเทศไทยอยู่ที่ 171 คนต่อประชากร 100,000 คน โรคนี้มักจะเกิดกับกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำ เนื่องจากมีความแออัดสูงมาก ทำให้เกิดการติดต่อโรคทางเดินหายใจ สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรคติดต่อ สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และกรมราชทัณฑ์ จึงได้เล็งเห็นความสำคัญ ดำเนินการคัดกรองผู้ป่วยทางวาจา การถ่ายภาพรังสีทรวงอก 100% และตรวจเสมหะผู้ป่วยที่สงสัยด้วยเครื่อง Gene-x-Pert ซึ่งพบผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันพบผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำ 142 แห่ง จำนวน 3,368 คน จากผู้ต้องขัง 310,000 คน เทียบเป็นความชุก 1,086 คน ต่อประชากร 100,000 คน ผู้ที่ถูกรับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคจะได้รับยารักษาอยู่ในห้องที่แยกการควบคุมในระยะแพร่เชื้อ 2 เดือนแรก จากนั้นเมื่อพ้นระยะติดต่อแล้ว จะควบคุมการกินยาทุกวันไปจนกว่าจะหายขาด ส่วนการป้องกันได้มีการแจกหน้ากากอนามัยกับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังอื่นในเรือนจำ
"ยอมรับว่าผู้ต้องขังที่ป่วยด้วยวัณโรคในเรือนจำมีเพียง 1% ของผู้ต้องขังทั้งหมด หรือ 1,000 คนต่อ 100,000 คน แต่หากเทียบกับผู้ที่อยู่ภายนอกเรือนจำอัตรา หรือสัดส่วนผู้ป่วยวัณโรค จะพบแค่ 100 ต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็น 0.1% เท่านั้น ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยในเรือนจำเมื่อเทียบกันแล้วถือว่าสูงมาก แต่กรมราชทัณฑ์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หลังการคัดแยกผู้ป่วยก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาให้ยาตามระยะ และมีแพทย์กลับมาตรวจติดตามอาการผู้ป่วยต่อเนื่อง โดยยืนยันมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยวัณโรคของกรมราชทัณฑ์เป็นไปตามขั้นตอนการรักษาขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO " อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว.
CR:::dailynews.co.th