ผบก.ปปป.ร่วมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสืบหาผู้ต้องหา กลุ่มใหม่คดีทุจริตเงินทอนวัด เตรียมนำกฎหมายฟอกเงินเล่นงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะที่เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร ให้ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย แถลงข่าวแจงทำไปตามที่ผู้บริหาร พศ.แนะนำ ไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ได้ให้ตัวแทนแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหาร พศ.คนดังกล่าวในข้อหาฉ้อโกงแล้ว ขณะที่ ผอ.พศ. สวนกลับความเป็นผู้เสียหายของทางวัดมีแค่ไหน คดีที่เกิดขึ้นตำรวจคงพิจารณาดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
จากคดีทุจริตฉาว กองบังคับการตำรวจปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) นำกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมายพร้อมกัน 10 จุด ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ตามยุทธการปราบโกงวัด เพื่อจับกุมผู้เกี่ยวข้องเครือข่ายทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หลังตรวจพบว่ามีวัดที่ร่วมทุจริต 12 แห่ง สร้างความเสียหายแก่รัฐ 60.5 ล้านบาท อยู่ระหว่างการขยายผลหาขบวนการที่กระทำความผิดเพิ่ม
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 มิ.ย. ที่ห้องประชุม บก.ปปป. ชั้น 4 ศูนย์ราชการอาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป. พ.ต.อ.จักษ์ เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป. และข้าราชการจาก ปปง. สตง. บก.ปอท. บก.ป. และ บก.ปอศ. เข้าร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับคดีดังกล่าว จากนั้น พล.ต.ต.กมลเผยว่า ขณะนี้ ปปป.สรุปคดีเงินทอนวัดหลังพบ 12 วัด ใน จ.ลำปาง 5 วัด จ.ลำพูน 1 วัด จ.อำนาจเจริญ 3 วัด จ.พระนครศรีอยุธยา 1 วัด จ.ชุมพร 1 วัด และ จ.เพชรบุรี 1 วัด มีผู้กระทำ ความผิดทั้งหมด 10 คน ตาม ม.147 และ 157 โดยส่งสำนวนไปให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว
พล.ต.ต.กมลกล่าวต่อว่า วันนี้เชิญเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมบูรณาการ สืบหากลุ่มผู้ต้องหากลุ่มใหม่ พร้อมประสาน ปปง.ให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน และเส้นทางการเงินผู้ต้องหา หากพบหลักฐานถึงใครต้องถูกดำเนินคดีข้อหาฟอกเงิน เนื่องจากพบการนำเงินที่ทุจริตโยกย้ายถ่ายเทไปยังบัญชีอื่น หรือนำไปซื้อทรัพย์สินอื่นแทน ส่วนการตรวจสอบวัดทั่วประเทศขณะนี้มีจำนวนประมาณ 60-70 วัด ส่วนจะพบข้อมูลการทุจริตหรือไม่ ยังตอบไม่ได้อยู่ในขั้นตอนการสืบสวน หลังจากนั้นจะส่งให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบวัดที่ จ.ชุมพรไปแล้วนั้น ทาง ปปป.จะไม่ก้าวล่วง เนื่องจาก ป.ป.ช.ดำเนินการไปแล้ว
สำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคดีดังกล่าวที่เจ้าหน้าที่ บก.ปปป. พบตัวและแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว 5 ราย ประกอบด้วย 1.นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ผอ.ส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) 2.นางณัฐฐาวดี ตันตยาวิสารสุทธิ์ นักวิชาการ พศ. 3.นายฐานพัฒน์ ม่วงทอง ไม่ใช่ข้าราชการ แต่มีส่วนรู้เห็นและสนับสนุน 4.นายศิวโรจน์ ปิยะรัตน์เสรี ไม่ใช่ข้าราชการ แต่มีส่วนรู้เห็นและสนับสนุน 5.พระสุทธิพงษ์ สุทธิวังโส พระวัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน มีส่วนรู้เห็นและสนับสนุน ส่วนคนที่ร่วมกระบวนการ อยู่ระหว่างการติดตามตัวมาแจ้งข้อกล่าวหา ได้แก่ 1.นายนพรัตน์ เบญวัฒนานันท์ อดีต ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทราบว่าหลบหนีไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา 2.นางประนอม คงพิกุล รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 3.น.ส.อุบล ดิษฐ์ด้วง 4.นางชมพูนุท จันฤาไชย 5.นางรัสริน รวมสิน โดย 3 คนหลังไม่ใช่ข้าราชการ แต่มีส่วนรู้เห็นและสนับสนุน
ตอนสายวันเดียวกัน ที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็น 1 ใน 12 วัด ที่ถูกระบุว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว พระธรรมรัตนมงคล เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร และเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้นายสมศักดิ์ โตรักษา ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของวัด แถลงข่าวเกี่ยวกับการรับอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดจนถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีทุจริต “เงินทอนวัด” โดยนายสมศักดิ์กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2555 วัดได้ก่อสร้างกุฏิทรงไทยจำนวน 9 หลัง และในปี 2556 ได้ก่อสร้างทางเดินรอบวิหารหลวงพ่อโต โดยนำรายได้จากการทำบุญและเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธามาดำเนินการ
ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของวัดพนัญเชิงวรวิหาร กล่าวต่อว่า นางประนอม คงพิกุล ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน พศ. ตำแหน่งในขณะนั้น โทรศัพท์หาพระธรรมรัตนมงคล แจ้งว่าทาง พศ.จะให้เงินอุดหนุนทางวัด 10 ล้านบาท เพื่อใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัด โดยโอนเงินมาเข้าบัญชีวัด เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.57 ซึ่งนางประนอมแจ้งว่าให้ทางวัดนำไปใช้ 2 ล้านบาท ส่วนอีก 8 ล้านบาท จะนำไปให้วัดอื่นที่ยากจนทำการบูรณปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัด ทางวัดโอนเงินเข้าบัญชีนางชมพูนุท จันฤาไชย จำนวน 8 ล้านบาท ต่อมาช่วงปลายปี 2557 นางประนอม บอกกับพระธรรมรัตนมงคล ว่าจะให้เงินสนับสนุนวัดอีก 10 ล้านบาท แต่ขอให้ทางวัดมอบเงิน 5 ล้านบาทคืนเพื่อนำไปช่วยวัดอื่นๆ ทางวัดให้ลูกศิษย์นำเงินไปมอบให้นางประนอมที่ย่านพุทธมณฑล จ.นครปฐม
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า เรื่องที่เกิดขึ้น พระธรรมรัตนมงคล ได้สอบถามนางประนอมว่าถูกกฎหมายหรือไม่ ซึ่งนางประนอม ยืนยันว่าถูกกฎหมาย ท่านจึงเชื่อและดำเนินการตามที่นางประนอมแนะนำ กระทั่งพนักงานสอบสวน บก.ปปป. ขอสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเงินดังกล่าว ท่านได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี กระทั่งทราบจากข่าวว่า นางประนอมถูกแจ้งข้อกล่าวหากรณีเงินอุดหนุนวัดพนัญเชิงวรวิหารจำนวน 13 ล้านบาท มอบอำนาจให้ตนเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ดำเนินคดีนางประนอมให้ข้อหาฉ้อโกง นอกจากนี้ ยังให้ร้องเรียนต่อรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.) เกี่ยวกับเรื่องเงินดังกล่าว หากทางวัดเรียกคืนจากนางประนอมได้จะส่งคืนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อนำไปช่วยวัดที่ยากจนต่อไป ขอยืนยันว่าเจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร ไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่มีผลประโยชน์ได้เสียกับเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด
ต่อมา พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ตนยังไม่ขอเอ่ยชื่อผู้บริหาร พศ.ที่ทางวัดพนัญเชิงวรวิหารไปแจ้งความดำเนินคดี เพราะหากยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิดถือว่าเป็นผู้ที่บริสุทธิ์อยู่ กรณีของวัดพนัญเชิงวรวิหาร มีคำถามคือ ผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องเงินบูรณปฏิสังขรณ์วัดประกอบด้วยใครบ้าง คำตอบคือ ผู้บริหาร พศ.และวัด ผู้ที่มีอำนาจของวัดในการถอนเงิน ในที่นี้ย่อมหมายถึงเจ้าอาวาส ที่ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การที่ทางวัดแถลงว่าไม่มีเจตนาและไม่ทราบนั้น เป็นสิ่งที่ทางวัดสามารถทำได้ แต่คดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจคงพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เมื่อทางวัดไปแจ้งความข้อหาฉ้อโกงกับผู้บริหาร พศ.นั้น เป็นสิทธิ์ของวัด แต่ความเป็นผู้เสียหายของทางวัดมีมากน้อยเพียงใด เพราะในคดีที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงนั้น สถานะของความเป็นผู้เสียหายจะมีผลในการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
พ.ต.ท.พงศ์พรกล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงผู้บริหารพศ. และเจ้าหน้าที่ พศ.ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความคืบหน้ามาที่ตน คงต้องให้เวลาในการทำงานก่อน ตนยืนยันว่าผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ที่เป็นผู้บริหาร พศ.และเจ้าหน้าที่ พศ.ยังไม่ได้หนีไปไหน และเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา ถือว่ากระบวนการทางวินัยได้เริ่มขึ้นแล้ว