ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.นายธนธร ทาคำฟู นักวิชาการด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยเชียงราย เจ้าของเพจกฎหมายดี 4D กล่าวกับ"เดลินิวส์ออนไลน์" สื่อชื่อดัง ถึงกรณีดังกล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1.พี่สาวเปรี้ยวมีความผิดตามกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ คำตอบคือไม่ผิด 2. แม่ของน้องแอ๋ม จะเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้หรือไม่
คำตอบคือ หากเอาแค่คำให้สัมภาษณ์ตามเนื้อหาที่พี่สาวน.ส.ปรีชานุช พูดไปฟ้องอาจเรียกไม่ได้ แต่หากมีการพิสูจน์ว่ามีคำพูดอื่นๆ พาดพิงถึงแม่โดยตรงเช่น พูดว่าแม่เลี้ยงดูมาอย่างไรให้ลูกสาวทำงานแบบนี้เช่นนี้ก็อาจเรียกได้ แต่ถ้าไม่มีการกล่าวเช่นนี้เลย จะเรียกร้องทางแพ่งในกรณีละเมิดไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจแม่น้องแอ๋ม แต่สิทธิของแม่น้องแอ๋มเรียกร้องได้คือในส่วนของการขาดอุปการะได้โดยตรง แต่ค่าเสียหายฐานเสียหายต่อชื่อเสียง ต่อครอบครัวน่าจะเรียกร้องไม่ได้
นายธนธร กล่าวว่า สำหรับสิทธิของแม่น้องแอ๋มตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับกรณีน.ส.ปรียานุช และเพื่อนมาทำให้บุตรสาวถึงแก่ความตายนั้น ได้แก่ 1. ค่าปลงศพ รวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น 2. ค่าขาดไร้อุปการะที่บุตรสาวจะต้องเลี้ยงดูแม่ไปตลอดชีวิต เมื่อมีผู้ทำให้บุตรสาวตาย แม่จึงเรียกค่าสินไหมทดแทนนี้จากจำเลยในคดีอาญาได้ โดยสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทั้งสองข้อดังกล่าวเป็นสิทธิทางแพ่งที่มีมูลมาจากคดีอาญา เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาพิพากษาค่าสินไหมทางแพ่งให้ได้ โดยไม่ต้องแต่งตั้งทนายความ กล่าวคือเมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนแล้ว และมีการส่งฟ้องจำเลยทั้งหมดต่อศาลจังหวัดขอนแก่น แม่ของน้องแอ๋มสามารถติดต่ออัยการในคดีเพื่อให้ช่วยเรื่องการยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ตามมาตรา 44/1 แห่ง ป.วิ.อาญา โดยกระบวนการเหล่านี้ไม่ต้องอาศัยทนายความ แต่หากจะมีทนายความช่วยเขียนคำร้องให้ก็เป็นการสะดวก แต่ค่าสินไหมทดแทนเพราะเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการให้สัมภาษณ์ของพี่สาวเปรี้ยว ไม่สามารถเรียกร้องด้วยวิธีการนี้ได้ และเมื่อถือว่าพี่สาวเปรี้ยวไม่มีความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทเสียแล้วก็จะเรียกร้องทางแพ่งไม่ได้