ปกติการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา นักศึกษาที่เรียนภาคสมทบจะกู้ได้เฉพาะค่าเล่าเรียน แตกต่างจากนักศึกษาภาคปกติที่จะกู้ได้มากกว่า ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ หาก น.ส.เสาวภาจะกู้มากกว่านั้นก็ต้องทำเรื่องผ่านคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยพิจารณาเพื่อเสนอเรื่องไปยังกองทุนต่อไป อย่างไรก็ตาม น.ส. เสาวภาได้สิทธิในการกู้เพื่อชำระค่าเล่าเรียน เพียงแต่ว่าทางมหาวิทยาลัยยังไม่ได้จ่ายเงินให้ เนื่องจากเพิ่งได้รับงบประมาณมาจากทางกองทุนทั้งหมด 41 ล้านบาท อยู่ ระหว่างการตรวจสอบเอกสารต่างๆเพื่อความถูกต้องอยู่ ทางฝ่ายนักศึกษาจำเป็นต้องชำระเงินไปก่อน
อย่างไรก็ตามช่วงนี้เป็นช่วงวันหยุดติดต่อกันหลายวัน
จึงยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า น.ส.เสาวภาเคยยื่นเรื่องเพื่อขอกู้เป็นกรณีพิเศษหรือไม่ จะได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ที่ผ่านมายอมรับว่าการประชาสัมพันธ์หรือการชี้แจงให้นักศึกษารับทราบอาจไม่ทั่วถึง ต่อไปจะได้ปรับปรุงในส่วนนี้ให้ดีขึ้น
“ผมเคยไปทานเบเกอรี่ที่ร้าน ซึ่งเขาทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ ยังชมอยู่ในใจว่าเด็กคนนี้เป็นคนขยัน ไม่คาดคิดว่าจะมาคิดสั้นแบบนี้ เท่าที่ตรวจสอบพบว่าผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง เกรดเฉลี่ยระดับ 2 กว่าเป็นคนมีความรับผิดชอบสูง” ผศ.ฉัตรชัยกล่าวในตอนท้าย
ต่อมาในช่วงเย็น นายสมเกียรติและคณะเดินทางไปร่วมงานศพ
ได้พูดคุยสอบถามประวัติความประพฤติของผู้ตายกับญาติๆ จากนั้นนายสมเกียรติกล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า น.ส.เสาวภา กู้เงินกองทุนมาตลอดตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ปวช. จนถึงระดับปริญญา แต่ในปีนี้ทางกองทุนยังไม่ได้จ่ายเงินให้กับนักศึกษาที่กู้ อาจเป็นเหตุให้ น.ส.เสาวภา เข้าใจผิดและไม่รู้ว่าจะได้รับเงินกู้หรือไม่ กลายเป็นความวิตกกังวลจนเกินเหตุ เท่าที่สอบถามผู้ปกครอง พี่ชาย และเพื่อนๆ ระบุว่า เรื่องทุนการศึกษาไม่น่าจะเป็นประเด็น เนื่องจากวงเงินกู้ไม่สูง และยังทำธุรกิจกับเพื่อนเปิดร้านซักอบรีดเล็กๆ ไม่น่าจะมีปัญหาทางการเงิน แต่ในช่วงหลัง น.ส.เสาวภา มักจะเครียดนอนไม่หลับ และวิตกกังวลเกรงว่าจะไม่สำเร็จการศึกษาในปีที่ 4 ประกอบกับช่วงนี้ผลการเรียนไม่ดี เกรดเฉลี่ย 2.1 เศษๆ ทำให้มีความกังวลเรื่องนี้ด้วย
อย่างไรก็ตามทางกองทุนจะให้ความช่วยเหลือครอบครัวตามสมควร
รวมทั้งจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อใช้ในการปรับปรุงการทำงานของกองทุนให้มีความรอบคอบยิ่งขึ้น ด้าน ส.ต.ต.อนุรักษ์ ประชุม พี่ชายของ น.ส.เสาวภา กล่าวว่า ข่าวที่ออกไปว่าน้องสาวกู้เงินเรียนไม่ได้ทำให้คิดสั้น ฆ่าตัวตายนั้นไม่เป็นความจริง เพราะที่บ้านถึงแม้จะไม่ร่ำรวย แต่ไม่ถึงขั้นยากจนอนาถา ที่ผ่านมาตนและพี่ชายอีกคนส่งเงินให้น้องเป็นประจำ เรื่องกู้เงินไม่ได้จึงไม่น่าจะเป็นประเด็น แต่ประเด็นจริงๆ ยังไม่มีใครทราบ เพียงรู้จากเพื่อนของน้องสาวว่า น้องสาวเคยบ่นถึงปัญหาการเรียนตกต่ำ หากเรียนไม่จบ พ่อแม่จะเสียใจ ปกติน้องสาวเป็นคนที่เก็บตัวไม่ค่อยพูดอยู่แล้ว ประกอบกับเป็นคนสู้ชีวิต ไม่เคยขอเงินทางบ้าน แม้พี่ๆจะส่งเงินมาช่วยเหลือ ขอยืนยันว่าเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาแน่นอน
ที่ สภ.อ.เมืองนครศรีธรรมราช ช่วงบ่ายวันเดียวกัน
พ.ต.ท.นิติ บุญจันทร์ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ได้เชิญเจ้าของบ้านเช่า เพื่อนบ้าน และเพื่อนสนิทของ น.ส.เสาวภา มาสอบปากคำ จากนั้นเปิดเผยว่า หลังรับผลการชันสูตรศพอย่างเป็นทางการจากแพทย์ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ยืนยันว่าผู้ตายเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ ไม่มีบาดแผลหรือร่องรอยจากการถูกทำร้าย และจากการสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องเพื่อหาสาเหตุจูงใจการฆ่าตัวตาย เชื่อว่าความเครียดในเรื่องการเงินที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คิดสั้น เนื่องจากไม่แน่ใจว่าในชั้นปีที่ 4 จะได้รับเงินกู้ยืมจากกองทุนหรือไม่ รวมทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ จนกลายเป็นความวิตกสะสม
ผู้ตายเครียดจัดจนนอนไม่หลับมาหลายคืนแล้ว
อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็เคยพยายามผูกคอตายมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่เพื่อนช่วยไว้ได้ทัน ส่วนสาเหตุอื่นๆไม่พบว่ามีอะไรที่จะทำให้เครียดมากกว่านี้ โดยเฉพาะปัญหาชู้สาวก็ไม่มี
ด้าน น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ รักษาการผู้จัดการ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ได้รับทราบข่าวการเสียชีวิตของ น.ส.เสาวภา เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ก็รู้สึกตกใจ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที และในวันเดียวกันนี้ ฝ่ายบริหารของ กยศ.ได้เดินทางไปที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงจากทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และบิดามารดาของ น.ส.เสาวภา เบื้องต้นพบว่า น.ส.เสาวภา กู้เงินเรียนระดับอุดมศึกษาจาก กยศ.
ส่วนการเล่าเรียนในชั้นปีที่ 3 เป็นการกู้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต
(กรอ.) ขอกู้เฉพาะค่าเล่าเรียนเพียงอย่างเดียว ส่วนการขอกู้ในชั้นปีที่ 4 ทาง กยศ.ยังไม่เคยได้รับจดหมายจาก น.ส.เสาวภา เนื่องจากโครงการอนุมัติเงินกู้เป็นหน้าที่ของทางมหาวิทยาลัยที่จะอนุมัติ และเมื่ออนุมัติแล้ว กยศ.จะจ่ายเงินโดยตรงให้มหาวิทยาลัยโดยไม่ผ่านนักศึกษา
รักษาการผู้จัดการ กยศ. เปิดเผยว่า
ปัจจุบันกองทุน กรอ.ได้ยกเลิกไปแล้วตามมติ ครม.วันที่ 26 มิ.ย. 50 แต่มติ ครม.ไม่ได้ตัดสิทธินักศึกษาที่กู้จาก กรอ.ก่อนหน้านี้ในปีแรก และยังคงให้กู้ต่อไปจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาสังคมตามมา โดยจะไม่รับนักศึกษาใหม่เพิ่มเติมอีกแล้ว ซึ่งหน้าที่การดูแลของ กรอ. ทาง ครม.มอบหมายให้ กยศ.เป็นผู้ดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตามกระบวนการ ที่ผ่านมา กยศ.ได้ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนนักศึกษาทราบว่า คนที่กู้เงินจาก กรอ.เดิมอยู่แล้วไม่ต้องกังวล เพราะรัฐบาลมีงบประมาณเพื่อนำไปใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนอย่างเพียงพอ
กยศ.ไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น
แต่ ต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าสาเหตุการตายของ น.ส. เสาวภาเกิดจาก กยศ.หรือไม่ เพราะขบวนการอนุมัติอยู่ที่มหาวิทยาลัย กยศ.มีหน้าที่จ่ายเงินอุดหนุนค่าเล่าเรียนเท่านั้น และคู่สัญญาก็คือมหาวิทยาลัยกับนักศึกษา ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า กยศ.มีการทำงานล่าช้าเพราะอยู่ ระหว่างการสรรหาผู้จัดการคนใหม่นั้น ก็ขอปฏิเสธ เพราะที่ผ่านมา กยศ.ทำงานอย่างเต็มที่ในการดูแลและประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนนักศึกษาที่กู้เงินจาก กรอ.และ กยศ.รับทราบข้อเท็จจริง น.ส.ฑิตติมากล่าวในตอนท้าย
ส่วนนายวิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดี(มศว) ให้ความเห็นในเรื่องสลดใจที่เกิดขึ้นว่า
สังคมสมัยนี้ทำให้เด็กเปราะบางมาก สถาบันการศึกษาทุกแห่งต้องให้ความสนใจเด็ก นิสิต นักศึกษาให้มากขึ้น โดยเฉพาะอาจารย์ที่ปรึกษานั้นมีส่วนอย่างมากที่จะช่วยเหลือเด็ก อาจารย์ต้องไม่เอาแต่สอนหนังสืออย่าง เดียว เมื่อเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาต้องเข้าไปอยู่ในใจเด็กให้ได้ และพร้อมจะให้เด็กเข้ามาปรึกษาทุกเรื่อง ทุกวันนี้ระบบอาจารย์ที่ปรึกษาทุกสถาบันล้มเหลวอย่างมาก ถ้าระบบเข้มแข็งจะสามารถช่วยเหลือปัญหาเด็กๆได้ เพราะ เด็กเชื่อฟังครูอาจารย์มากกว่าพ่อแม่ หากอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นที่พึ่งของเด็กวัยเรียนได้ ปัญหาต่างๆคงจะลดน้อยลงและผ่อนปัญหาหนักในชีวิตของเด็กให้เบาลง