ญาติชูวงษ์โวยตร. ฉะด่วนสรุปตาย‘อุบัติเหตุ’ คาใจทีมสอบเพื่อนบรรยิน
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอาชญากรรม ญาติชูวงษ์โวยตร. ฉะด่วนสรุปตาย‘อุบัติเหตุ’ คาใจทีมสอบเพื่อนบรรยิน
กรณี นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง อายุ 50 ปี นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างระดับหมื่นล้าน ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ภายในรถยนต์ยี่ห้อเลกซัส สีดำ
หมายเลขทะเบียน ภฉ-1889 กทม. ซึ่งมี พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์ เป็นคนขับ เนื่องจากญาติมองว่า จากสภาพรถที่เกิดอุบัติเหตุไม่น่าทำให้เสียชีวิตได้ และยังพบด้วยว่า นายชูวงษ์ ได้โอนหุ้นจำนวนกว่า 300 ล้าน ไปให้กับบุคคลอื่นก่อนเสียชีวิตเพียงไม่กี่วัน จนเป็นที่มาของการร้องเรียนให้มีการสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตใหม่ ก่อนที่ พ.ต.อ.ทวีรัชต์ ศรีธวัชพงศ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 (รอง ผบก.น.4) จะออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ถึงผลสรุปการสวนสอบสาเหตุการเสียชีวิตของ นายชูวงษ์ ว่า มาจากอุบัติเหตุ
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกันต์ แซ่ตั๊ง พร้อมด้วย นางวันเพ็ญ ธนธรรมศิริ บุตรชายและพี่สาวของ นายชูวงษ์ พร้อมทนายความ ได้เดินทางมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เพื่อขอให้เปลี่ยน พ.ต.อ.ทวีรัชต์ ออกจากการเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของ นายชูวงษ์ เนื่องจากพบข้อมูลว่า พ.ต.อ.ทวีรัชต์ เป็นเพื่อร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 39 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.บรรยิน ร่วมทั้งมีการด่วนสรุปสาเหตุการเสียชีวิตของ นายชูวงษ์ ว่าเกิดจากอุบัติเหตุ ทั้งที่ในข้อเท็จจริงยังไม่มีการสรุปเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด จึงทำให้ญาติเกิดความไม่สบายใจ เกรงจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสอบสวน
แต่ทั้งนี้ พล.ต.อ.สมยศ ได้ออกมาชี้ว่า การจะเปลี่ยนชุดพนักงานสอบสวนหรือไม่ ถือเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาจะพิจารณา คงไม่ใช่เมื่อมีใครไม่พอใจแล้วมาร้องขอให้เปลี่ยนชุดพนักงานสอบสวนก็ต้องทำตามทั้งหมด เพราะต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ตั้งใจทำงานด้วย และจากการสังเกตุการทำงานของพนักงานสอบสวนคดีนี้ ก็ยังไม่พบเหตุผลว่าจะต้องเปลี่ยน
ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผช.ผบ.ตร. ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่มีการสรุปสาเหตุการเสียชีวิตของ นายชูวงษ์ ว่าเป็นอุบัติเหตุหรือฆาตกรรมอำพราง เพราะยังต้องรอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญรถยนต์อีกหลายส่วน โดยเฉพาะเรื่องแรงกระแทกในแนวตั้งที่เกิดจากการกระเด็นกระดอนของรถ และวัตถุแข็งภายในรถ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการกระแทกจนเสียชีวิตได้
วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์อาร์เอชบี 3 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโอนหุ้นของ นายชูวงษ์ ไปยัง น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล แคดดี้สาว รวมมูลค่า 228 ล้านบาท ได้เดินทางมาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม (กก.1 บก.ป.) โดยภายหลังการสอบสวนเสร็จสิ้น ทั้งหมดก็เดินทางกลับทันที โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด
ขณะที่ พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช ผกก.1 บก.ป. เปิดเผยว่า จะสอบถามในประเด็นเกี่ยวกับขั้นตอนการโอนหุ้นอย่างละเอียด จากนั้นจึงจะนำข้อมูลที่ได้รับ ไปประมวลอีกครั้งก่อนรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ส่วนการสอบปากคำ พ.ต.ท.บรรยิน ได้นัดหมายกันไว้ในวันที่ 29 กรกฏาคม เวลา 09.30 น. โดยจะมีการสอบถามในประเด็นความสัมพันธ์กับ น.ส.กัณฐณา และ น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดบริษัท หลักทรัพย์เออีซี จำกัด ซึ่งรับงานเป็นพริตตี้ และได้รับโอนหุ้นจาก นายชูวงษ์ ไปกว่า 30 ล้านบาท
เมื่อถามถึงกรณีการตรวจสอบพบว่าในเอกสารโอนหุ้นอาจมีการเซ็นทับเกิดขึ้น พ.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนได้นำส่งให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) ไปตรวจสอบแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าไม่นานก็จะตรวจสอบเสร็จสิ้นและส่งผลกลับมายังพนักงานสอบสวน ขณะที่คลิปเสียงของนายชูวงษ์ คงไม่มีการตรวจพิสูจน์จากทาง พฐ. เนื่องจากไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานที่ใช้ยืนยันในชั้นศาลได้ โดยเจ้าหน้าที่จะใช้วิธีเรียกคู่สนทนาของผู้เสียชีวิต ที่อยู่ในคลิปเสียงมาสอบสวนเพื่อยืนยันว่าเป็นเจ้าของเสียงจริงหรือไม่ ก่อนนำไปประกอบสำนวนการสอบสวน
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มีการสรุปว่าสาเหตุการเสียชีวิตของ นายชูวงษ์ เกิดจากอุบัติเหตุ จะทำให้มีผลกระทบต่อการสอบสวนของ บก.ป. หรือไม่ พ.ต.ท.จิรภพ ตอบว่า ไม่มีผลต่อ เพราะคดีในส่วนที่ กก.1 บก.ป. ดำเนินการอยู่ เป็นประเด็นที่ญาติ นายชูวงษ์ ร้องขอให้ตรวจสอบเรื่องการโอนหุ้นของผู้เสียชีวิตไปยังบุคคลที่ 3 ก่อนจะเสียชีวิต เนื่องจากพบพิรุธเท่านั้น
รายงานข่าวแจงว่า สำหรับประเด็นการสอบปากคำเจ้าหน้าที่บริษัท หลักทรัพย์อาร์เอชบี นั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของขั้นตอนการโอนหุ้น ซึ่งโดยปกติการโอนหุ้นนั้นเมื่อเจ้าของพอร์ตหรือเจ้าของหุ้นมีความประสงค์ที่จะโอนหุ้นให้กับใครก็จะทำเอกสาร ก่อนส่งเอกสารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดหรือโบรกเกอร์ที่รับผิดชอบ จากนั้นก็จะส่งเอกสารให้กับหัวหน้าฝ่ายการตลาด แล้วส่งให้กับแผนกที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ทำการตรวจสอบเอกสารว่าลายเซ็นถูกต้องหรือไม่ ก่อนจะมีการโทรศัพท์ไปยังเจ้าของหุ้นเพื่อยืนยันการทำธุรกรรม และอนุมัติการทำธุรกรรมต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 27 กรกฎาคม ชุดสืบสวน กก.1 บก.ป. ได้เข้าตรวจค้น 2 จุด คือ 1.บริษัทหลักทรัพย์เออีซี จำกัด (มหาชน) และ 2.บริษัทหลักทรัพย์อาร์เอชบี โอเอสเค ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) โดยเจ้าหน้าที่ขอเอกสารการดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ นายชูวงษ์ ทั้งหมด แต่มีการขอส่งเอกสารให้ภายหลัง โดยอ้างว่า บริษัทปิดทำการแล้ว ส่วนการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการโอนหุ้นของ นายชูวงษ์ นั้น ทั้งหมดให้การค่อนข้างเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนยังต้องประสานข้อมูลกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในประเด็นขั้นตอนการโอนหุ้นหรือการทำธุรกรรมว่า โดยปกติโบรกเกอร์สามารถโอนหุ้นที่ไม่ใช่ลูกค้าที่ตัวเองดูแลได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้อยู่ระหว่างการขอข้อมูลขั้นตอนกับทาง ก.ล.ต.เพื่อความชัดเจน