ย้อนรอยคดีไร่ส้ม-ปมเงินค่าโฆษณา‘อสมท’
ย้อนรอยคดีไร่ส้ม-ปมเงินค่าโฆษณา‘อสมท’ : โอภาส บุญล้อมรายงาน
เดือนมิถุนายน 2546 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาว่าจ้างนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ให้เป็นพิธีกรแบบรายวัน ดำเนินรายการ “ถึงลูกถึงคน” ในอัตราค่าจ้าง 5,000 บาทต่อตอน
ต่อมาปรากฏว่ารายการได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ชมรายการ หลังจากนั้น เดือนกุมภาพันธ์ 2547 นายสรยุทธ จึงได้ตั้ง บริษัทไร่ส้ม จำกัด โดยมีนายสรยุทธ เป็นกรรมการผู้จัดการ มี น.ส.อังคณา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ้ม เป็นกรรมการบริษัท และเข้าทำสัญญาร่วมผลิตรายการกับ อสมท โดยระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2549 บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้เข้าทำสัญญากับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ร่วมผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลาประมาณ 12.00-13.00 น. ครั้งละ 60 นาที (รวมเวลาโฆษณา) โดย บมจ.อสมท ตกลงแบ่งเวลาโฆษณาให้ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้ครั้งละ 5 นาที ถ้ามีโฆษณาเกินกว่ากำหนด บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้ บมจ.อสมท ในอัตรานาทีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท
นอกจากนี้ได้ทำสัญญาร่วมผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศทุกวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ เวลาประมาณ 21.30-22.00 น. ครั้งละ 30 นาที (รวมเวลาโฆษณา) โดย บมจ.อสมท ตกลงแบ่งเวลาโฆษณาให้ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้ครั้งละ 2 นาที 30 วินาที ถ้ามีโฆษณาเกินกว่ากำหนด บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้ บมจ. อสมท ในอัตรานาทีละไม่ต่ำกว่า 240,000 บาท
เรื่องมาแดงขึ้นเมื่อช่วงปี 2549 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท ตรวจพบว่า “บ.ไร่ส้ม” ค้างรายได้จากการโฆษณาเป็นเงินเกือบ 100 ล้านบาท แม้สุดท้ายทาง “บ.ไร่ส้ม” ได้รีบชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินให้ อสมท เป็นเงินจำนวนกว่า 138 ล้านบาท เมื่อรวมดอกเบี้ยเป็นเงินกว่า 152 ล้านบาท แม้จะได้รับค่าเสียหายคืนแล้ว แต่ทาง อสมท ก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงถึงสองชุดด้วยกัน ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการทั้งสองชุดพบว่ามีการกระทำผิดจริง
เมื่อคดีมาถึง ป.ป.ช. ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของ ป.ป.ช. ปรากฏว่า นางพิชชาภา หรือชนาภา เอี่ยมสะอาด หรือบุญโต เจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาด บมจ.อสมท เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำคิวโฆษณารวมและเป็นผู้รายงานโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บเงินจาก บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้ให้ความช่วยเหลือ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยไม่มีการรายงานการโฆษณาเกินเวลาของ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด เพื่อเรียกเก็บเงิน ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2549
จากการไต่สวนปรากฏว่า นายสรยุทธได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของธนาคารธนชาต สาขาพระราม 4 จ่ายเงินให้นางพิชชาภา โดยมีการทำเอกสารหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้รวม 6 ครั้ง เป็นเงิน 739,770.50 บาท เพื่อตอบแทนที่นางพิชชาภามิได้รายงานการโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด
ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 นางบุณฑณิก บูลย์สิน รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักการตลาด 1 ได้สังเกตพบว่า รายการข่าวเที่ยงคืน มีการออกอากาศล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด จึงได้ตรวจสอบ และได้เรียกนางพิชชาภามาสอบถามต่อหน้าทุกคนซึ่งนางพิชชาภาก็ได้รับสารภาพต่อหน้าทุกคนว่า บริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีการโฆษณาเกิน และไม่มีการรายงานเพื่อเรียกเก็บเงินจริง และนางพิชชาภาได้ใช้น้ำยาลบคำผิด ลบเฉพาะคิวโฆษณาเกินเวลาในส่วนของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ในใบคิวโฆษณารวมของ บมจ.อสมท เพื่อปกปิดความผิดที่ได้กระทำขึ้นตามคำแนะนำของนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงานของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ก่อนที่จะเกิดการตรวจสอบเรื่องนี้ขึ้น
หลังจากนั้น บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินให้ บมจ.อสมท ในวันที่ 31 สิงหาคม 2549 และวันที่ 15 กันยายน 2549 เป็นเงินจำนวน 103,953,710 บาท โดยบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ขอหักส่วนลด 30% จากยอดทั้งหมดจำนวน 138,790,000 บาท แต่ บมจ.อสมท ไม่ยินยอมให้หักส่วนลด 30% เนื่องจากบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มิได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำกันไว้และไม่ได้ชำระเงินให้ถูกต้องตามสัญญา บมจ.อสมท จึงคิดดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 138,790,000 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 คิดถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2549 เป็นเงินจำนวน 4,464,197.67 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 9,715,300 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 152,969,497.67 บาท ซึ่งบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ก็ยินยอมชำระเงินดังกล่าวให้ บมจ.อสมท. ในวันที่ 20 ตุลาคม 2549
20 กันยายน 2555 ป.ป.ช.ได้มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิดนางพิชชาภา เจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรงและมีมูลความผิดทางอาญา และนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กก.ผจก.บริษัท ไร่ส้ม จำกัด, น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด, บริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีมูลความผิดทางอาญา ฐานสนับสนุนพนักงานกระทำความผิด
คดีดังกล่าวหลังจากอัยการสูงสุดได้รับสำนวน ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดแล้ว ต่อมาวันที่ 5 กันยายน 2556 อัยการสูงสุดได้แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ เพื่อให้คณะทำงานอัยการ และ ป.ป.ช.ร่วมกันรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ ต่อมาคณะทำงานผู้แทนทั้งฝ่ายอัยการ และป.ป.ช. รวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว จึงเสนออัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา จึงมีคำสั่งฟ้องนางพิชชาภา หรือชนาภา เอี่ยมสะอาด หรือบุญโต เจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด, บริษัทไร่ส้ม จำกัด และ น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ผู้ถูกกล่าวหา ตามความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 8, 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และ 91
สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การฯ มาตรา 6 ฐานพนักงานเรียกรับสินบน ระวางโทษจำคุก 5-20 ปี หรือตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท, มาตรา 8 ฐานเป็นพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต โทษจำคุก 5-20 ปี หรือตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท และมาตรา 11 ฐานพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากนางพิชชาภา หรือชนาภา กระทำผิด ศาลก็จะใช้ดุลพินิจลงโทษตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้
ส่วนนายสรยุทธ, น.ส.มณฑา, บริษัทไร่ส้ม เมื่อไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หากพบว่ากระทำผิดจริง ก็ต้องรับโทษ 2 ใน 3 ของอัตราโทษข้างต้น ฐานร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่กระทำความผิด