นับเป็นคดีใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงปลาย ปี พ.ศ. 2557 ที่ประชาชนยังคงให้ความสำคัญเกาะติดมาจะใกล้ 1 เดือนแล้ว นอกจากจะจับกุม พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีต ผบช.ก.กับเครือข่ายไปได้แล้วกว่า 20 คน ยังติดตามอายัดทรัพย์สินมีค่าจากในบ้านพัก หลายจุดหรือตู้เซฟอีก เรียกว่าค่อนข้างมหาศาล
นอกจากนี้ยังมีวัตถุโบราณนานาชนิดอีกสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่องราคาแพง พระพุทธรูปเก่าแก่ เครื่องลายคราม ฯลฯ จนมีการตั้งคำถามว่ามีของแท้ หรือของเทียมมากน้อยเพียงใด ?
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. จึงจำเป็นต้องประสานงานไปทางกรมศิลปากร
ให้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญ และบรรดาผู้เกี่ยวข้องในวงการ มาร่วมตรวจสอบของกลางที่มีมากมายไม่ต่ำกว่าหมื่นชิ้น ฯลฯ ก่อนหน้านี้ นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร เคยนำคณะไปร่วมดูของกลางจำนวนมากที่เก็บรักษาเอาไว้ที่กองพันทหารราบที่ 2 กรมการทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อตรวจพิสูจน์ กำหนดอายุสมัย กำหนดค่าทรัพย์สิน และประเมินราคาของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สิ่งเทียมโบราณวัตถุ และสิ่งเทียมศิลปวัตถุ
การตรวจพิสูจน์ เพื่อต้องการพิจารณาให้ความเห็นและประเมินราคาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุหรือสิ่งเทียมโบราณวัตถุ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติมฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ได้ดำเนินการยึดหรืออายัดไว้ราว 2-3 หมื่นชิ้น ว่าเป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะแล้ว เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี
เบื้องต้นสามารถสรุปได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ดังนี้ กลุ่มที่ 1.ประติมากรรมหิน ศิลปะเขมร จำนวน 13 รายการ เช่น พระพุทธรูปยืนสมัยก่อนเมืองพระนคร (แบบอังกอร์โบเรย) พุทธศตวรรษที่ 12 ร่วมสมัยศิลปะทวารวดี, เทวรูปและเทวสตรี สมัยก่อนเมืองพระนคร (แบบสมโบร์ไพรกุก) ราวพุทธศตวรรษที่ 13 และศิลปะเขมรสมัยเมืองพระนคร (แบบกุเลน) พุทธศตวรรษที่ 14, (แบบเกาะแกร์ )พุทธศตวรรษที่ 15 , (แบบบาปวน) พุทธศตวรรษที่ 16 และแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนประกอบของสถาปัตยกรรม คาดว่าคงนำมาจากโบราณสถานที่เป็นหินที่ยกมาทั้งชุด ส่วนหนึ่งเป็นชิ้นส่วนของทับหลัง และอีกส่วนเป็นภาพแกะสลักที่มุมของเสาประดับกรอบประตูทางเข้าโบราณสถาน เป็นศิลปะสมัยเมืองพระนครแบบนครวัด-บายน พุทธศตวรรษที่ 17-18
สำหรับกลุ่มที่ 2. พระพุทธรูปและรูปเคารพในพระพุทธศาสนา และศาสนาฮินดู จำนวน 37 รายการ เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำด้วยสำริด ศิลปะล้านช้าง พุทธศตวรรษที่ 21-22 ,พระพุทธรูปยืน พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ทำด้วยสำริด ศิลปะอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 23-24 พระพุทธรูปนั่งบนฐานสูง ทำด้วยไม้ ศิลปะอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 24 พระพุทธรูปและพระสาวกครองจีวรลายดอก พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ทำด้วยโลหะผสม ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 พระพุทธรูปทำด้วยหินและไม้ ศิลปะพม่าแบบมัณฑะเลย์ พุทธศตวรรษที่ 25 พระคเณศทำด้วยโลหะผสมลงรักปิดทอง ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24-25
ส่วนกลุ่มที่ 3. โบราณวัตถุและศิลปวัตถุประเภทหินอ่อนและโลหะ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้คัดเลือกไว้บางส่วน โดยส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมรูปบุคคล และเครื่องเรือน ศิลปะตะวันตก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 25 รวมทั้งงาช้างแกะสลัก จำนวนไม่น้อยกว่า 30 รายการ นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ยังมิได้ทำการตรวจสอบและคัดแยกอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ประติมากรรมหิน ศิลปะอินเดีย ประเภทรูปบุคคล และภาพสลักเล่าเรื่อง เครื่องปั้นดินเผา และภาพเขียน ซึ่งจะเชิญกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปตรวจสอบอีกครั้ง อย่างไรก็ตามส่วนที่เป็นศิลปะตะวันตกนั้นถ้าเทียบสมัยแล้วคืออาจนำเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือนำเข้ามาในสมัยปัจจุบันก็เป็นได้ เพราะทางยุโรปมีการซื้อขายศิลปวัตถุเหล่านี้อยู่แล้วโดยไม่ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีของบางส่วนที่กรมศิลปากร ยังไม่ได้ดูและตรวจพิสูจน์คือประเภท “เครื่องถ้วยเกือบ 1 หมื่นชิ้น” ยังคงต้องดูในรายละเอียดว่าเป็นเครื่องถ้วยแบบไหน เช่น สังคโลก หรือสุโขทัย
มีการตั้งข้อสอบถามถึงการครอบครองโบราณวัตถุของบุคคลทั่วไปนั้น
นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การครอบครองนั้นถ้าเป็น ประเภทประติมากรรมหินที่เป็นศิลปะเขมร นั้น โดยปกติแล้วต้องอยู่กับศาสนสถานหรือที่ปราสาท คนทั่วไปจะไม่ครอบครองไว้เป็นสมบัติส่วนตัวเพราะเป็นรูปเคารพในศาสนา ทั้งนี้ผู้ครอบครองต้องพิสูจน์ว่าได้มาอย่างไร ซึ่งโบราณวัตถุเป็นของที่เคลื่อนที่ได้อาจจะมีคนนำมาขายหรือนำมาให้จึงต้องให้ผู้ครอบครองชี้แจงถึงที่มาที่ไป อย่างไรก็ตามคงต้องตรวจพิสูจน์อย่างละเอียดว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบแล้วโบราณวัตถุดังกล่าวไม่ใช่ของไทยแต่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา พม่า และลาว
“ดังนั้นต้องดูว่าการนำเข้ามาผ่านการตรวจสอบจากกรมศุลกากรหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อมีโบราณวัตถุผ่านเข้าในประเทศทางกรมศุลกากรจะแจ้งให้กรมศิลปากรไปตรวจพิสูจน์ว่าเป็นของต้องห้าม หรือของใหม่ทำเทียมเลียนแบบย้อนยุค มั่นใจว่าประติมากรรมหินทรายทั้ง 13 ชิ้นไม่ใช่ของไทยแน่นอน ขั้นตอนต่อไปคงทำหนังสือแจ้งผ่านไปยังสถานทูตของประเทศที่เป็นเจ้าของพร้อมกับแสดงภาพให้ดูว่ามีสิ่งของเหล่านี้สูญหายไปหรือไม่ หากมีก็ให้นำหลักฐานมาแสดงเพื่อจะได้ส่งคืน”
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวทิ้งท้ายว่า เท่าที่ตรวจสอบพบว่าสิ่งของเป็นของปลอมมากกว่าครึ่ง
ซึ่งกรมศิลปากรจะเก็บไว้เฉพาะโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ส่วนของเลียนแบบจะให้ทางตำรวจเป็นผู้เก็บไว้ อย่างไรก็ตามเรื่องราคานั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกแต่ละชิ้นได้ แต่พอจะประมาณการได้ว่าประติมากรรมหินทรายมีราคากว่า 1 ล้านบาท โดยเฉพาะ “เทวรูปพระนารายณ์ถือสังข์” ที่เป็นศิลปะเขมร ขณะเดียวกันกรมศิลปากร จะนำภาพสิ่งของทั้งหมดแสดงทาง www.finearts.go.th และกด LINK ไปที่ evidence เพื่อให้ประชาชนและผู้สนใจเข้าไปดูว่าเป็นเจ้าของหรือมีหลักฐานการครอบครอง ให้นำมาแสดงที่สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากรได้ทันที
อย่างไรก็ดีล่าสุด ช่วงสาย วันที่ 8 ธ.ค. พล.ต.ต.ประสพโชค พร้อมมูล ผบก.ปทส. พร้อมด้วย นายสหภูมิ ภุมิธฤติรัฐ ผอ.สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรมศิลปากร และเจ้าหน้าที่ทหารจาก ร.1 พัน 2 รอ. ยังคงลงพื้นที่ตรวจสอบ ร้านสวงค์ จ.นนทบุรี เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ได้อายัดของกลางในคดีของเครือข่ายของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ภายในร้านและโกดังหลังร้าน ยังพบศิลปวัตถุจำพวกรูปปั้น ทับหลัง ของโบราณ และไม้แปรรูปต่าง ๆ จำนวนมากอยู่ภายในร้านและโกดังจำนวนมากกว่า 1,000 รายการ ของกลางบางชนิดยังอยู่ในสภาพที่เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
หลังจากนี้ก็ต้องรอลุ้นดู บทสรุปของการประเมินมูลค่าของกลางทั้งหมดที่อายัดมาได้จากเครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ เป็นของแท้ หรือของเทียม และมูลค่าราคาเท่าไรแน่ ?.
ทีมข่าวเฉพาะกิจ : รายงาน