ศาลฎีกาพิพากษายืน ปรับเงิน 133,400 บาท ลูกจ้างเก็บขยะกทม.ขายซีดีเก่าแผ่นละ 20 บาท โดยไม่มีใบอนุญาต เจ้าตัวเตรียมใจไม่มีเงินจ่ายค่าปรับถูกกักขังแทนค่าปรับ 1 ปี
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.3060/2552
ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุรัตน์ มณีนพรัตน์สุดา อายุ 28 ปี ลูกจ้างชั่วคราวเก็บขยะ ประจำเขตสะพานสูง กองรักษาความสะอาด กรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำนำภาพยนตร์ ซึ่งเป็นแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ ตามความผิดพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551 โดยอัยการโจทก์ยื่นฟ้องบรรยายพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.51 จำเลยประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยน หรือจำนำภาพยนตร์ที่เป็นแผ่นวีซีดีภาพยนตร์อันเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดจำหน่ายเป็นแผงลอย ไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่ริมบาทวิถีในตลาดนัดใกล้สี่แยกกรุงเทพกรีฑา เขตบางกะปิ กทม.และได้รับเงินตามราคาแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ที่ได้จำหน่ายในราคาแผ่นละ 20 บาท โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเหตุเกิดที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม. ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน
ขณะที่ชั้นพิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยเป็นพนักงานเก็บขยะประจำเขตสะพานสูง กองรักษาความสะอาดกรุงเทพมหานคร
ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราว เก็บขยะระหว่างเวลา 04.00 - 10.00 น. เมื่อเก็บขยะแล้วจะแยกขยะที่พอขายได้ไปขายที่ แผงลอยตลาดหน้าหมู่บ้านนักกีฬาโดยขายปะปนกับหม้อหุงข้าว และรองเท้าเก่า ต่อมาถูกตำรวจ สน.หัวหมากจับโดยยอมรับว่าขายจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 53 เห็นว่าจำเลยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ฯ มาตรา 38 วรรคหนึ่ง และ ม.79 ให้ปรับ 200,100 บาท แต่คำรับสารภาพจำเลยในชั้นสอบสวนมีประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงปรับจำนวน 133,400 บาท หากจำเลยไม่ชำระ ให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ขณะที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 10 ก.ค.55 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นต่อมาจำเลยได้ยื่นฎีกาสู้คดี
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว รับฟังได้ตามทางนำสืบว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 51 จำเลย
ได้นำแผ่นซีดีภาพยนตร์ 83 แผ่น และแผ่นซีดีเพลง 13 แผ่น มาวางขายกับพื้น บริเวณตลาดนัดสี่แยกกรุงเทพกรีฑาแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม. ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมากเข้าจับกุมชั้นสอบสวนให้การรับสารภาพ ขณะที่ของกลาง ซึ่งเป็นพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนมีเจ้าพนักงานของรัฐตรวจสอบและมีบันทึกคำรับสารภาพในชั้นจับกุมที่มีลายมือชื่อจำเลย ส่วนที่จำเลย ฎีกาว่า พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฯ จึงใช้บังคับกับคดีนี้ไม่ได้ นั้น เห็นว่าฎีกาของจำเลยไม่มีรายละเอียดว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หมวดใดเรื่องใด เพราะอะไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง และที่จำเลยต่อสู้ว่าไม่มีเจตนาประกอบธุรกิจค้าแผ่นซีดี ในลักษณะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่การกระทำผิดของจำเลยจึงไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น
ศาลเห็นว่าแม้จำเลยจะยกประเด็นขึ้นฎีกา แต่ไม่มีข้อความใดเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ซึ่งไม่เป็นไปตามบทบัญญัติอำนาจฎีกา ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216วรรคแรก จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องที่ศาลล่างพิพากษามานั้นชอบแล้ว พิพากษายืนภายหลังอ่านคำพิพากษาฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่า นายสุรัตน์ จำเลย ไม่มีเงินชำระค่าปรับ จำนวน 133,400 บาทเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จึงได้ควบคุมตัวนายสุรัตน์ไปกักขังแทนค่าปรับตามคำพิพากษาต่อไป
ขณะที่นายสุรัตน์กล่าวก่อนถูกควบคุมตัวไปกักขังว่า เตรียมใจมาแล้วว่าต้องถูกตัดสินโทษซึ่งรับสารภาพมาแต่ต้นว่า เป็นคนขายซีดีจริง
โดยตนก็ไม่รู้กฎหมายขณะที่เวลานั้น ตนไม่ได้ขายซีดีอย่างเดียว แต่นำเอาสิ่งของอื่นที่ได้มาจากกองขยะมาวางขายด้วย วันนี้ยังไม่มีค่าปรับที่จะจ่ายได้ทันที แต่จะลองให้ภรรยาไปหายืม หรือกู้เงินนอกระบบมาชำระค่าปรับ ซึ่งหนทางเหมือนจะมืดมน ไม่รู้จะไปพึงใคร ตอนนี้สงสารแต่ลูกซึ่งที่ผ่านมาทำงานเก็บขยะอยู่ที่เดิม แต่ก็ไม่กล้านำอะไรมาขายอีกเลย.