เผายาเสพติดครั้งใหญ่ 3 พันกิโลกรัม กว่า 8 พันล้านบาท

เผายาเสพติดครั้งใหญ่ 3 พันกิโลกรัม กว่า 8 พันล้านบาท

 

วันที่  26 มิถุนายน  ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม  นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
 
พล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รองเสนาธิการทหารบก รองหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 43 เพื่อร่วมต่อต้านและขจัดปัญหายาเสพติด เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดสากล  ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนทุกปี   โดยมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.บุญชัย  สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารยา (อย.)  และผู้บริหารร่วมเป็นสักขีพยาน  

สำหรับการเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางครั้งนี้ มีน้ำหนักรวมกว่า 3,094 กิโลกรัม จาก 2,911 คดี รวมมูลค่ากว่า 8,867 ล้านบาท
 
ประกอบด้วย 1.เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า น้ำหนักกว่า 2,504 กิโลกรัม หรือประมาณ 27 ล้านเม็ด  มูลค่าประมาณ 8,348ล้านบาท  

2.ยาไอซ์ น้ำหนักกว่า 243 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 487 ล้านบาท
 
3.เฮโรอีน น้ำหนักกว่า 21 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 17 ล้านบาท 

4.เอ็กซ์ตาซี่ หรือ ยาอี     น้ำหนักกว่า 2 กิโลกรัม หรือประมาณ 9,000 เม็ด มูลค่าประมาณ 9 ล้านบาท  

5.ฝิ่น น้ำหนักกว่า  74 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท และอื่นๆ อีก นอกจากนี้ยังมีกัญชาของกลางที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดนำมาร่วมเผาน้ำหนักกว่า 5,066 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 12 ล้านบาท  
            
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า   แนวโน้มการระบาดของยาเสพติดในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์น่าห่วง 

 โดยพบว่า ยาเสพติดที่ใช้มากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ยาบ้าร้อยละ 87  กัญชาร้อยละ 4.5 และ ยาไอซ์ร้อยละ 3.7 ลักษณะการใช้ยาเสพติดของผู้เข้ารับการบำบัดรักษา  ส่วนใหญ่ จะใช้ยาเสพติดชนิดเดียวมากที่สุดคือร้อยละ 85 

เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการใช้ยาเสพติดมากกว่า 1 ชนิด ร้อยละ 15 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมที่พบร้อยละ 11 

 และการเสพติดอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 3 ส่งผลให้การบำบัดรักษามีความยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงมีการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดอย่างเร่งด่วน และบำบัดผู้เสพ    โดยผลการบำบัดผู้เสพสารเสพติดทุกชนิดในปีงบประมาณ 2556   นำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาได้ 4.8 แสนกว่าคน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 แสนคน  

ส่วนในปีงบประมาณ 2557 ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2556-15 มิถุนายน 2557
 
 มีผู้เข้ารับการบำบัด ในโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัด 1,287 แห่งทั่วประเทศ  รวม 150,517  คน  โดยระบบบังคับบำบัดมากที่สุด 97,713 คน รองลงมาคือระบบสมัครใจ 39,628  คน  กลุ่มผู้เสพยาเสพติดหลักที่เข้ารับการบำบัดร้อยละ 45  เป็นกลุ่มอายุระหว่าง 15-24  ปี ส่วนใหญ่อาชีพรับจ้าง ว่างงานและเกษตรกร
 

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์