เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.)
พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชำนาญ รวดเร็ว รอง ผบช.ภ.5 และคณะ เข้าตรวจสอบการยึดและอายัดทรัพย์สินคดียาเสพติดในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งได้ออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว ตามมาตรการยึดและอายัดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องในเครือข่ายยาเสพติด ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง 31 พฤษภาคม 2557 รวม 8 เดือน
ทั้งนี้ ได้มีการออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ไว้ทั้งสิ้น 332 คำสั่ง มีทรัพย์สินรวม 1,404 รายการ
โดยทุกสถานีตำรวจภูธร ใน 8 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.น่าน จ.พะเยา จ.แพร่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ลำพูน และ จ.ลำปาง ได้นำทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดไว้โดยคำสั่ง เลขาธิการ ปปส.มาส่งมอบให้ทาง ปปส.เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยได้ทรัพย์สิน 565 ล้านบาท มีทั้งรถยนต์ จักรยานยนต์ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทองและเครื่องประดับ เงินสด เงินฝากในบัญชีธนาคาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ด้วย
พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 41/2557
เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด ซึ่งทาง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ.หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้กำหนด 6 มาตรการเร่งด่วน ในการดำเนินการนั้น ได้กำหนดให้การยึดและอายัดทรัพย์สินผู้กระทำผิดและเครือข่าย เป็น 1 ในมาตรการเร่งด่วนดังกล่าว ทาง ปปส.จึงดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยภาพรวมทั่วประเทศในช่วงเวลา 8 เดือน สามารถยึดอายัดทรัพย์ได้ 1,119 ล้านบาท
สำหรับคดีที่ยึดและอายัดทรัพย์สินได้เกินกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 11 คดี
ส่วนเครือข่ายยาบ้าของ นางสุชาดา ทวยพา หรือ “เจ๊เพ็ญ” ซึ่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ไว้แล้วกว่า 200 ล้านบาท นอกจากนี้เครือข่ายที่มีการโอนเงินข้ามประเทศของนางมณี คำพีระ ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้เกินกว่า 200 ล้านบาท เช่นเดียวกัน
พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวอีกว่า ในทางปฏิบัติ ปปส.ได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของกลุ่มนักค้ายาเสพติด รวมถึงผู้สมคบและสนับสนุนอย่างละเอียด หากพบว่ามีผู้ใดเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดทุกกรณี
“การยึดทรัพย์ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่สามารถยึดทรัพย์ได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เชื่อว่าหลังจากขยายผล จะสามารถยึดทรัพย์ได้อีก 400-500 ล้านบาท ส่วนการจัดการกับทรัพย์สินที่ยึดได้ก็จะมีการเก็บไว้ในห้องมั่นคง จัดทำบัญชีของกลางด้วยระบบคิวอาร์โค้ด สำหรับของกลางพวกรถยนต์ จักรยานยนต์ ตกรุ่นก็จะขายทอดตลาดทันที หากศาลพิพากษาหรือคดีสิ้นสุดตามกฎหมาย และประสานธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ธนาคารพาณิชย์ตรวจสอบข้อมูลการเบิก ถอน เงินจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ ผ่านระบบอีแบงกิ้ง เพราะจะตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้” เลขาธิการ ปปส.กล่าว