คุกคามสื่อ...นักข่าวช่อง 7 โร่แจ้งความเอาผิด หลังถูกกลุ่มแท็กซี่รุมกระทืบอ่วมหน้าโรงพัก ฉุนมาทำข่าวจ้างคนมาม็อบ ขณะที่ตำรวจธรรมศาลาระบุ ส่งฝ่ายสืบสวนหาตัวผู้ก่อเหตุแล้ว
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 14 พ.ค. นายทอมฉัน บุญไสย์ อยู่บ้านเลขที่ 40/225 หมู่ 2 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร
ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 มีบาดแผลพกช้ำตามร่างกายหลายแห่ง พร้อมใบรับรองแพทย์ เดินทางเข้ามาแจ้งความกับ พ.ต.ท.วันชัย แก้วจินดา พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.ธรรมศาลา หลังจากถูกกลุ่มแท็กซี่ทำร้ายร่างกายที่หน้า สน.ธรรมศาลา กลางดึกคืนที่ผ่านมา
โดยนายทอมฉัน ให้การอ้างว่า ก่อนเกิดเหตุตนมาทำข่าวม็อบเสื้อแดงเป็นปกติประจำทุกวัน
โดยวันเกิดเหตุมีกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมโทรศัพท์มาร้องทุกข์ที่สถานีโทรทัศน์สี กองทัพบกช่อง 7 ว่า ไม่ได้รับค่าจ้างจากนายหน้าที่รับว่าจ้างมาตามที่ได้ตกลงกันไว้ จากนั้นทางหัวหน้าข่าวได้ประสานมายังตนให้เข้ามาทำข่าวที่ สน.ธรรมศาลา ต่อมาเวลาประมาณ 02.45 น. วันที่ 14 พ.ค. ตนเดินทางมาถึง สน.ดังกล่าว จึงนำกล้องวีดีโอออกมาถ่ายภาพทำข่าวกลุ่มแท็กซี่ที่รออยู่หน้าสน. แต่ปรากฏว่ามีกลุ่มแท็กซี่ประมาณ 20 คน ไม่พูดพร่ำทำเพลง กรูกันเข้ามาทำร้ายร่างกายด้วยการชกต่อยจนกองกับพื้น พร้อมทั้งบังคับให้ให้ลบภาพที่บันทึกออกทั้งหมด ซึ่งตนก็ปฎิบัติตามคำสั่งอย่างไม่ขัดข้อง แต่เนื่องจากเกิดความล่าช้าไม่ทันใจกลุ่มคนดังกล่าว จึงใช้กำลังนำเอาม้วนเทปบันทึกภาพไป ซึ่งระหว่างที่ตนกำลังนำม้วนเทปบันทึกภาพให้นั้นก็ยังถูกทำร้ายร่างกายอยู่ ตลอดเวลา
ท้ังนี้ขณะเกิดเหตุมีผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งตน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพวกเดียวกับแท็กซี่ตะโกนออกมาว่าอย่าทำร้ายสื่อมวลชน
ทำให้กลุ่มแท็กซี่ดังกล่าวหยุดและนำม้วนเทปติดมือไปด้วย แต่ผู้หญิงคนดังกล่าวก็ได้ไปตามม้วนเทปกลับคืนมาให้ กระทั่งในช่วงเช้าตนไปตรวจร่างกายที่ รพ.ธนบุรี 2 ก่อนจะมาแจ้งความดังกล่าว
“อยากขอร้องกลุ่มผู้ชุมนุมทุกม็อบ อย่าทำร้ายสื่อมวลชนทุกแขนงอีกเลย โดยเฉพาะสื่อในภาคสนาม เนื่องจากสื่อเหล่านี้ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจที่จะนำข่าวออกไปเผยแพร่ เพราะกระบวนการถ่ายทอดไปยังประชาชนนั้นขึ้นอยู่กับทางสถานีหรือสำนักข่าว นั้น ๆ”
พ.ต.ท.วันชัย กล่าวว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะทำการส่งข้อมูลไปยังฝ่ายสืบสวน และนำกล้องวงจรปิดที่หน้า สน.ธรรมศาลา
มาตรวจสอบเพื่อติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดี สำหรับการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดในข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ สำหรับคดีที่มีคนมาแจ้งความว่าไม่ได้รับค่าจ้างจากการชุมนุมนั้นมีประมาณ 30 ราย.