ชี้ทรัพย์มรดกหากไม่มีผู้รับให้ตกเป็นของแผ่นดิน เลาขาฯสภาทนายความ แจงคดี ลูกชายโหด จ้างวานฆ่า พ่อ-แม่-พี่ชาย ตามกฎหมายไม่ให้เป็นผู้รับมรดก แม้ได้เป็นทายาท
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ
ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายกรณี ลูกชายเป็นคนจ้างวานมือปืนมาฆ่าพ่อแม่ และพี่ของตัวเอง เพราะเรื่องมรดก 120 ล้านบาทว่า ตามกฎหมายแพ่ง มาตรา 1599,1600 เมื่อบิดามารดา ซึ่งเป็นเจ้ามรดกตาย กองมรดกจะตกแก่ทายาท ตามมาตรา 1629 ก็คือพี่ชาย กับน้องชาย แต่คดีนี้พี่ชายตายแล้ว เหลือน้องชายที่เป็นบุตรคือ ผู้รับมรดก ปัญหาคือคดีนี้บุตรเป็นคนจ้างวานใช้ให้ฆ่าบิดามารดาเสียเอง ดังนั้น มาตรา 1606 (1) จึงให้บุตรชาย ถูกกำจัดมิให้รับมรดก โดยเป็นผู้ไม่สมควร
ส่วนกรณีนี้ มรดกจะตกแก่ใครนั้น ตามมาตรา 1629 ได้จัดลำดับทายาทกองมรดกไว้ 6 ลำดับ
มีผู้สืบสันดาน บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดา (คนละพ่อคนละแม่) ปู่ยาตายาย และลุงป้าน้าอา ใครที่ยังมีชีวิตอยู่หรือมีสิทธิ์รับมรดกแทนที่ทายาทตามลำดับดังกล่าว ก็มีสิทธิ์รับมรดกไป และคนที่อยู่ในลำดับที่ใกล้เจ้ามรดกเท่านั้นที่มีสิทธิ์รับ คนที่อยู่ในลำดับถัดลงไป ไม่มีสิทธิ์รับมรดกเลย
นายนิวัติ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม มาตรา1603 บอกว่า กองมรดกให้ตกแก่ทายาทโดยธรรม
โดยสิทธิ์ตามกฎหมาย หรือโดยพินัยกรรม แสดงว่า นอกจากมรดกจะตกแก่ทายาทแล้ว หากพ่อกับแม่ ทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 หรือไม่ คน ๆ นั้นก็มีสิทธิ์รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมไป จึงต้องไปสืบดูว่า มีการทำพินัยกรรมหรือไม่
หลายคดีแล้ว ที่คนตายมีเงินมาก เกิดปัญหาแบ่งทรัพย์มรดก หรือบางคดีตายไปแล้วญาติก็โผล่
ทั้งที่ก่อนนี้ไม่เคยมีญาติจึงต้องพิสูจน์ความเป็นทายาทว่า เป็นจริงหรือไม่ แต่บางคดีทายาทไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับมรดกก็มี บอกว่าไม่อยากขึ้นโรงขึ้นศาล ดังนั้นมาตรา 1753 จึงบอกว่า ถ้าทรัพย์มรดกไม่มีผู้รับให้ตกเป็นของแผ่นดิน".