นายโภคิน กล่าวอีกว่า 2. ตามคำร้องนอกจากได้มีคำขอให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้วยังขอให้วินิจฉัยให้ ครม.ทั้งคณะสิ้นสุดลงและขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้มีการแต่งตั้งนายกฯคนใหม่ตาม มาตรา 172 และ 173 โดยอนุโลมด้วย ซึ่งเห็นได้ว่า คำขอดังกล่าวเป็นคำขอที่นอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยได้หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำขอเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญฉีกรัฐธรรมนูญ และ กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง ไม่ต่างกับการใช้อำนาจตุลาการทำการรัฐประหาร
นายโภคิน
กล่าวอีกว่า 3. เมื่อนายกฯ และครม.พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 (2) เพราะเหตุมีการยุบสภาฯแล้ว
เพียงแต่รัฐธรรมนูญฯมาตรา 181 กำหนดให้ ครม.ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพื่อรอครม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่เท่านั้นจึงไม่มีเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงซ้ำอีกได้ เพราะผลก็คือการทำให้ ครม.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งซึ่งปัจจุบันก็พ้นไปแล้วเนื่องจากการยุบสภาฯ เทียบกับกรณีที่มีการร้องให้วินิจฉัยความเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สิ้นสุดลง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญให้จำหน่ายคดี โดยวินิจฉัยว่า ความเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ สิ้นสุดลงแล้ว เพราะการยุบสภาฯ
นายโภคิน กล่าวอีกว่า 4. แม้จะมีการวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลงย่อมไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีคนอื่น ๆ รองนายกฯ ย่อมปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ต่อไปได้ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 12-13/2551 กรณีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แม้ความเป็นนายกฯ ของนายสมัครฯ จะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว แต่รัฐมนตรีที่เหลือย่อมต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 181 และ 5. การจะนำมาตรา 172และ 173 มาใช้เพื่อให้มีการแต่งตั้งนายกฯคนใหม่โดยอนุโลม ในขณะนี้นั้นไม่อาจทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า นายกฯต้องเป็นส.ส.และมีกระบวนการแต่งตั้งได้ให้ความเห็นชอบโดยที่ประชุม ส.ส.ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้การจะได้นายกฯคนใหม่จึงต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้งและมีสภาผู้แทนราษฎรแล้วเท่านั้น
“ ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้นพรรคจึงเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรยึดมั่นในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและตัดสินให้เป็นไปด้วยความถูกต้องยุติธรรมไม่ตัดสินเพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ เพราะหากกระทำการไปโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดต่อความรู้สึกของประชาชน แล้วประชาชนย่อมไม่อาจยอมรับได้ ” นายโภคิน กล่าว
เมื่อถามว่า วุฒิสภาที่เหลืออยู่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 3 ได้หรือไม่ นายโภคิน กล่าวว่า มาตรา 3 เขียนไว้ว่า
อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้น พูดง่าย ๆ คือผ่านทางรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และศาล ก็ต้องไปดูว่า ทางรัฐสภาใช้อย่างไรหรือทางศาลใช้อย่างไร รัฐธรรมนูญบอกไว้หมดว่าจะต้องทำอย่างไร ดังนั้นการจะนำมาตรา 7 มาใช้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ มาตรา 7 นั้นเขียนไว้ในยุคแรก ๆ ในธรรมนูญการปกครอง สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์และเขียนไว้ว่าสำหรับอุดช่องว่าง ซึ่งการอุดช่องว่าศาลฎีกาตีความไว้ คือให้อุดช่องว่างโดยให้เป็นไปตามประเพณีในระบอบประชาธิปไตยนั่นคือนายกฯ ต้องมาจากส.ส. หากบอกว่า นายกมาจากใครก็ได้แบบนี้จะไม่ขัดมาตรา 7 เสียเองหรือ
เมื่อถามต่อว่า นักวิชาการบางกลุ่มมีความเห็นว่า อย่างไรก็เปิดรัฐสภาไม่ได้ให้ใช้วุฒิสภาที่เหลืออยู่ดำเนินการตามมาตรา 3 ในส่วนของสภานิติบัญญัติ แล้วเลือกนายกฯตามมาตรา 7 นายโภคิน กล่าวว่า มาตรา 3 เขาพูดหลักแต่การจะเลือกนายกฯเขามีรายละเอียดอยู่ในมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องถ้าเราไม่ถืออย่างนี้ก็แปลว่ามาตราอื่นไม่มีผลบังคับใช้อย่างนั้นหรือแต่วันนี้ไม่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็ไปทำให้มีเสีย
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากเป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยคาดการณ์พรรคได้มีการประชุมเพื่อหารือเตรียมการรับมืออย่างไรบ้าง
นายโภคิน กล่าวว่าเราก็ประชุมปรึกษากันไปเรื่อย ๆ เราพยายามบอกมาตลอด ว่า เดี๋ยวจะเป็นอย่างนี้ บางคนถึงขนาดมีการโพสว่านอนแล้วฝันอย่างนั้น อย่างนี้ก็ตรงหมด บ้านเมืองมันไปถึงขนาดนี้ได้อย่างไรพวกเราหัวใจเจ็บช้ำหมดเพราะถูกรังแก แล้วไม่คิดว่า เฉพาะเพื่อไทยแต่ประชาชนทั้งหมดที่สุจริตที่อยากเห็นประเทศเดินหน้าโดยการเลือกตั้งบนพื้นฐานของการรับฟังประชาชนทุกคนก็เจ็บช้ำ
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่นายโภคิน กล่าวว่า
ยังไม่มีครั้งใดที่รัฐบาลหรือพรรคไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลแม้แต่คำวินิจฉัยที่เราคิดว่าไม่ถูกต้องเราก็ยอมรับ เพราะเราอยากเห็นสันติสุข ทั้งนี้ สำหรับการเกิดสุญญากาศ หากเกิดโดนอุบัติเหตุหรือเพราะมนุษย์สร้างให้มันเกิด ก็จะมีการสร้างแล้ว สร้างอีก.