เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินเอ็มเอช 370
พร้อมลูกเรือและผู้โดยสาร 239 ราย หายไปจากจอเรดาร์อย่างลึกลับ หลังจากออกเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มุ่งสู่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ว่า เว็บไซต์เดอะสตาร์ของมาเลเซีย ระบุว่าขณะนี้ทางการมาเลเซีย กำลังเร่งสอบสวนว่าใครปิดระบบการสื่อสารของเที่ยวบินดังกล่าว และพุ่งเป้าบุคคลที่เชี่ยวชาญ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ตำรวจมาเลเซีย ได้บุกเข้าตรวจค้นบ้านพักของนายซาฮารี อาห์หมัด ชาห์ กัปตันของเที่ยวบินเอ็มเอช 370
ที่อยู่ในย่านหรูเมืองชาห์ อาลาม เมืองหลวงของรัฐสลังงอ ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ราว 25 กิโลเมตร โดยใช้เวลาในการตรวจค้นราว 2 ชั่วโมง แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด ว่าตำรวจได้ตรวจยึดเครื่องซิมูเลเตอร์ ฝึกซ้อมการบินเสมือนจริงของนายซาฮารี ไปด้วยหรือไม่
ส่วนการตรวจสอบพนักงานสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ พบว่านักบินหลายคนมีเครื่องซิมูเลเตอร์ ฝึกซ้อมบินอยู่ที่บ้าน
แต่เครื่องของกัปตันซาฮารี นั้น ล้ำสมัยมากกว่าของคนอื่น และเขาเคยโพสต์บนเว็บไซต์แห่งหนึ่ง เมื่อ 2 ปีก่อน ว่าเขาได้ติดตั้งเครื่องซิมูเลเตอร์ รุ่น F-S-X และ F-S-9 ซึ่งเป็นเกมซิมูเลเตอร์ฝึกบินเสมือนจริงของไมโครซอฟท์ พร้อมจอมอนิเตอร์ 6 จอ ไว้ที่บ้าน
เว็บไซต์เดอะ สตาร์ รายงานโดยอ้างเพื่อนของกัปตันรายนี้ ว่า ภรรยาและลูก 3 คน ของนายซาฮารี
ได้ย้ายออกจากบ้านหลังดังกล่าว ภายหลังเที่ยวบินเอ็มเอช 370 สูญหายไปไม่กี่วัน สำหรับประวัติของกัปตันซาฮารี เคยศึกษาด้านการบินที่โรงเรียนการบินของสายการบินฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2523 และเข้าทำงานกับสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ ในปีถัดมา ขณะนี้มีชั่วโมงการบินสูงถึง 18,360 ชั่วโมง ซึ่งเพื่อนร่วมงานบอกว่า เขาเป็นคนร่าเริง ชอบสะสมเครื่องบินขนาดเล็ก
นอกจากนี้ตำรวจมาเลเซีย ยังได้เข้าตรวจค้นบ้านของนายฟาริก อับดุล ฮามิด ผู้ช่วยนักบิน และจะสอบสวนถึงประวัติ แนวคิดทางการเมืองและศาสนา งานอดิเรก พฤติกรรมส่วนบุคคลของนักบิน ลูกเรือ และผู้โดยสารทุกคนบนเครื่องบินลำดังกล่าวต่อไป
ด้าน น.ส.พ.สเตรทไทม์มาเลเซีย รายงานว่า มีหลักฐาน 3 ชิ้น ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอุตสาหกรรมการบิน
ชี้ชัดว่าเครื่องบินลำดังกล่าวถูกยึดโดยบุคคลที่มีความรู้เกี่ยวกับการบิน โดยหลักฐานชิ้นแรก คือ เครื่องรับส่งเรดาร์ มีเบาะแสบ่งชี้ว่าเครื่องรับส่งเรดาร์ซึ่งบ่งชี้สถานะเครื่องบินถูกปิดโดย ผู้ที่อยู่บนเครื่องเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หลักฐานชิ้นที่ 2 บ่งชี้ว่า บางส่วนของบริการสื่อสารข้อมูลปฏิบัติการ 2 ส่วนของเครื่องโบอิ้ง 777 ลำนี้ถูกปิด โดยระบบดังกล่าวใช้สำหรับส่งข้อความสั้นผ่านดาวเทียม หรือคลื่นวิทยุไปยังระบบเครือข่ายสายการบิน
ส่วนหลักฐานที่ 3 คือ ระบบนำทางการบิน เรดาร์ของทหารมาเลเซีย ยังคงจับสัญญาณได้ว่าเครื่องบนิกำลังมุ่งหน้าไปทางตะวันตก หลังจากระบบเครื่องรับส่งเรดาร์ถูกปิด และเรดาร์ฝ่ายพลเรือน ไม่สามารถจับสัญญาณเครื่องบินลำนี้ได้
วันเดียวกัน ทางการอินเดีย พักการค้นหาเครื่องบินลำดังกล่าวตามที่รัฐบาลมาเลเซีย
ร้องขอว่าต้องทบทวนปฏิบัติการค้นหาที่ดำเนินมาตลอด 1 สัปดาห์ โดยอินเดียค้นหาอย่างละเอียด 2 จุด ซึ่งจุดแรกคือรอบหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ จุดที่ 2 ไกลอกอไปทางตะวันตกอ่าวเบงกอล ทั้งนี้ กองทัพเรือมาเลเซีย ได้แจ้งกองทัพเรือทั้ง 13 ชาติ ให้ยุติการค้นหาชั่วคราว เพื่อตรวจสอบข้อมูลและวางแผนใหม่ โดยมาเลเซียขอบคุณทุกประเทศ และจะขอความร่วมมืออีกครั้ง อย่างไรก็ดี สำหรับกองทัพเรือไทย ยังคงเตรียมพร้อมในการค้นหาอีกครั้ง หากมีการร้องขอ
ขณะที่ น.ส.พ.ไทม์ออฟอินเดีย รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศเมืองโกลกาตา ว่า
หากเครื่องบินลำนี้ไปยังคาซัคสถาน ตามที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แถลงนั้นจะต้องผ่านเขตการบินโกลกาตา ซึ่งจะไม่สามารถหลบการตรวจจับของเรดาร์ปฐมภูมิของกองทัพอากาศที่ใช้เฝ้า ระวังการล่วงล้ำน่านฟ้าได้อย่างแน่นอน โดยกองทัพอากาศอินเดีย แปลกใจที่กองทัพมาเลเซีย ไม่ดำเนินการใดๆ ในช่วง 2 วันแรก เพราะปกติต้องดำเนินการทันทีหากพบเที่ยวบินนิรนาม
ส่วนญาติของผู้โดยสารในเครื่องบินดังกล่าวต่างวิตกกังวลมากขึ้นเมื่อมี ข้อมูลว่าการหายไปของเครื่องบินเกิดจากความจงใจ โดยบางคนสงสัยว่ามาเลเซียแอร์ไลน์ปกปิดอะไรอยู่หรือไม่ รวมทั้งผิดหวังกับทางการมาเลเซียและจีน ที่ไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องตำแหน่งเครื่องบิน