จับหมอเถื่อนเสริมความงาม แฉยังเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 แต่ตั้งตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ

จับหมอเถื่อนเสริมความงาม แฉยังเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 แต่ตั้งตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ

วันที่ 13 พ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายชัยเกษม  นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

พร้อมด้วย น.พ.ประดิษฐ์  สินธวณรงค์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  น.พ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  น.พ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์  เลขาธิการแพทยสภา  และนายธาริต  เพ็งดิษฐ์  อธิบดีดีเอสไอ ร่วมแถลงผลการจับกุมสถานพยาบาลและแพทย์เถื่อน โดยกระทรวงยุติธรรมได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สนธิกำลังเจ้าหน้าที่นำหมายค้นศาลอาญา เข้าตรวจค้นคลีนิก ชื่อ “Pulchala Clinic” เลขที่ 18/97 หมู่บ้านเทอเรซ  ซอยรามอินทรา 65 ถนนรามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ และพบ น.ส.ณัฐชานันท์ พิทักษ์ชัยกร หรือแนน อายุ 22 ปี ได้เช่าสถานที่แล้วเปิดคลินิกเถื่อน จึงควบคุมตัวมาสอบสวน 

และแจ้งข้อหานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และเผยแพร่ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ รวมถึงข้อหาฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 

นายธาริต กล่าวว่า จากการสืบสวนพบว่า น.ส.ณัฐชานันท์ ได้โพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์

อ้างว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงามทั้งที่ไม่ได้เป็นแพทย์จริงและมีการใช้ใบปริญญาบัตรและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพปลอมเพื่อสร้างความเชื่อถือ โดยน.ส.ณัฐชานันท์ เป็นเพียงนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามการลักลอบเปิดคลินิกเถื่อนนั้นทางกระทรวงยุติธรรม โดยดีเอสไอ และกระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา ได้ร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงในการปราบปรามคลินิกและแพทย์เถื่อน โดยประชาชนสามารถแจ้งเหตุคลินิกเถื่อนหรือแพทย์ที่ต้องสงสัยว่าใช้ใบอนุญาตปลอม ได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมฯ โทร. 090-1231230  หรือตรวจสอบรายชื่อแพทย์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา ที่มีฐานข้อมูลแพทย์อยู่เกือบ 5 หมื่นรายชื่อ 

ด้าน น.พ.ประดิษฐ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุขมีสถานพยาบาลภาครัฐอยู่ในการควบคุม 10,695 แห่ง และภาคเอกชนอีกเกือบ 18,000 แห่ง 

 แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีบริษัทหรือสถานพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพจริงมาแอบอ้างตัวหลอกลวงให้บริการ สำหรับสถิติระหว่างเดือน ต.ค. 2555-กันยายน 2556 พบว่ามีการร้องเรียนคลินิกเถื่อนแล้ว 30 แห่ง  โดยกรณีของคลินิกเถื่อนหากฝ่าฝืนจะมีโทษฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.สถานพยาบาล มาตรา 16 และมาตรา 24  จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  กรณีหมอเถื่อน ถือเป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม  มาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีการปลอมแปลงเอกสาร ใบปริญญา และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม จะมีความผิดตามกฎหมายอาญา เข้าข่ายต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

น.พ.ประดิษฐ์ กล่าวต่อว่าแม้จะเปิดสถานประกอบการถูกต้องแต่หากมีการจ้างแพทย์ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพก็ถือผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบด้วย
 
ดังนั้น ก่อนเข้ารับบริการด้านการแพทย์ควรตรวจสอบประวัติผู้ทำการรักษาอย่างรอบคอบ โดยสามารถตรวจสอบสถานประกอบการและแพทย์ผู้ได้รับอนุญาตได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข www.hss.moph.go.th หนึ่งในผู้เสียหายที่ถูกอ้างชื่อไปใช้กล่าวว่า เคยให้ข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับการสมัครงานแพทย์กับผู้ต้องหาซึ่งเปิดเว็บไซต์รับสมัครแพทย์ตนจึงติดต่อและมอบเอกสารประกอบการสมัครงานไปได้ ต่อมามีเพื่อนติดต่อว่าพบว่าชื่อของตนถูกนำไปโพสต์ประกาศให้บริการด้านความงาม  ดังนั้นขอเตือนถึงผู้ที่เข้ารับบริการด้านความงามควรตรวจสอบใบประกอบวิชาชีพให้ชัดเจน เนื่องจากขณะนี้ทราบว่ามีแพทย์เถื่อนจำนวนมากที่อาศัยแอบอ้างชื่อผู้อื่นไปให้การรักษาที่ผิดกฎหมาย  

เบื้องต้นจากการสอบปากคำทราบว่าผู้ต้องหารายนี้มีปัญหาครอบครัว ต้องหาเงินเรียนเอง จึงไปศึกษาวิธีการฉีดน้ำยาต่างๆให้กับเหยื่อทางเว็บไซต์ เพราะเห็นว่ารายได้ดีครั้งละประมาณ 10,000 บาท และทำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 รายจนกระทั่งมาถูกจับในครั้งนี้  

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์