เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ผู้สื่อข่าว ข่าวสด รายงานว่า จากการสำรวจตลาดสด พบว่าเนื้อสัตว์ประเภทโค-กระบือ มีราคาแพง อยู่ที่กิโลกรัมละ 200-250 บาท
ทำให้ร้าอาหารประเภทลาบก้อย ของกินคนอีสาน หลายแห่งต้องปรับตัวขึ้นราคา บางร้านถึงกับปิดลง เนื่องจากหาเนื้อโค-กระบือมาทำลาบก้อยไม่ได้ และมีราคาสูง ทำให้นักเปิบอาหารอีสาน ต้องหันไปหาเนื้ออย่างอื่นแทน เช่น เนื้อสุนัข ทำให้ขายดี
นายน้อย (ขอสงวนนามสกุล) เจ้าของร้านอาหาร ประเภทลาบก้อย ในเมืองสกลนคร กล่าวว่า
เมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา ร้านอาหารประเภทลาบก้อยของคนอีสานในตัวเมืองสกลนคร อย่างน้อยมีมากกว่า 20 แห่ง แต่ปัจจุบัน ร้านอาหารประเภทดังกล่าวได้ทยอยปิดตัวลง เนื่องจากเนื้อโค-กระบือ ที่นำมาทำลาบก้อย มีราคาสูงขึ้น จาก ก.ก.ละ 120 บาท ปัจจุบัน อยู่ที่ 200-250 บาท แต่ก็ยังหายาก ทั้งนี้เนื่องจากจำนวนวัว-ควาย มีปริมาณลดลง แต่จากการสอบถามพบว่าร้านประเภทดังกล่าวในเมืองสกลนคร มีไม่ถึง 5 แห่ง
นายน้อย กล่าวว่า ขณะนี้พบว่า มีกลุ่มชาวบ้านตามชนบทและวัยรุ่น หันมากินเนื้อสุนัขแทน ทั้งนี้เนื่องจาก เนื้อสุนัขมีราคาถูกกว่า จะอยู่ที่ตัวละ 120-250 บาทเท่านั้น จึงทำให้ตลาดเนื้อสุนัขยังคงมีอยู่ แม้จะมีการกวดขันการจับกุมผู้ลักลอบค้าสุนัขก็ตาม
เมนูสยอง!! วัยรุ่นฮิตเปิบสมองหมา-อ้างยาโด๊ปช่วยคึก ใช้หลอดดูดกิน
สำหรับเมนูเด็ดขณะนี้มีกลุ่มนักนิยมเปิบพิสดาร มาขอให้ทำ “สมองควาย-วัว” ให้กิน โดยมีการสั่งมากเป็นพิเศษ สอบถามทราบว่า
การกินสมองวัว-ควาย คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นยาโด๊ปสร้างพลัง คึกคักได้ จนขณะนี้สมองควายและวัว เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก จากแต่ก่อนหากมีการล้มวัว-ควายลง จะไม่มีใครสนใจหัวควายดังกล่าว แต่ปัจจุบันมีการซื้อขายอยู่ที่ 500-800 บาท ตามขนาด
สำหรับวิธีการกินของชาวบ้านจะนำสมองควายที่ได้มาทำการปรุง ผสมกับเครื่องเทศ จากนั้นไปหมกไฟให้สุกก่อนนำออกมากินกันเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะในสตรี มีการบอกว่าหากกินแล้วจะทำให้ผิวสวย ใบหน้าขาวผิวสดใส โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องสำอาง
นายอานนท์ (ขอสงวนนามสกุล) พ่อค้ารับแลกหมาจากบ้านท่าแร่ กล่าวว่า
การแลกสุนัขของที่นี่ยังมีเช่นเดิม แต่ต้องหลบให้ดี ทั้งนี้กลุ่มที่ค้า ไม่ได้ต้องการทำผิดกกหมาย แต่เนื่องจาก ภาวะตลาดเนื้อสดส่วนหนึ่งมีผลมาจากเนื้อโค-กระบือ มีปริมาณลดลง เนื้อสุนัขจึงถูกนำมาเป็นเนื้อแดดเดียวเป็นเมนูเด็ด ส่วนสุนัขสด ก็ยังขายได้ ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด
“โดยเฉพาะขณะนี้พบว่า เนื้อสุนัขดำ จะมีราคาแพงขึ้นกว่าเท่าตัว ทั้งนี้เนื่องจากจะเข้าหน้าหนาว ยังมีกลุ่มที่บริโภคส่วนหนึ่งอ้างว่า กินหมาดำเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย จะกินเฉพาะหน้าหนาวเท่านั้น และยังพบว่า หัวสุนัขที่ชำแหละ เป็นที่ต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะวัยรุ่น มาสั่งกันมาก แต่ก่อนขายหัวละ 10-15 บาท แต่ขณะนี้หัวสุนัขดังกล่าวมีราคาถึงหัวละ 50-70 บาท หากเป็นหัวสุนัขดำจะสูงถึง 100 บาท สอบถามผู้นิยมบริโภคบอกว่า หัวสุนัขดำ นำไปต้มแล้วกินสมอง เป็นเมนูยอดฮิตของกลุ่มวัยรุ่น เชื่อว่ากินแล้วร่างกายอบอุ่น และยังเพิ่มพลังทางเพศ เตะปี๊บได้หลายครั้งต่อวัน ทำให้ขณะนี้เนื้อสุนัข และหัวสุนัข กลายเป็นเมนูเด็ดของวัยรุ่นบางกลุ่มไปแล้ว
สำหรับวิธีการกิน สอบถามวัยรุ่นว่านำหัวสุนัขไปเผาไฟ นำมาล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นนำเครื่องเทศใส่หม้อต้มน้ำเดือด นำหัวสุนัขลงต้ม เมื่อสุกจะนำมาสับเพื่อนำสมองมากินแกล้มเหล้ากัน และบางรายใช้หลอดกาแฟ สอดแหย่เข้าไปในรูจมูกของหัวสุนัขแล้วดูดกินกันอย่างอร่อย
ทางด้านนายสมบูรณ์ กุดนอก นักวิชาการ สำนักงานสาธารณสุข ชำนาญการ จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า
การกินสมองวัว-ควาย กินมาตั้งแต่คนรุ่นก่อนอยู่แล้ว แต่กินสุก และความเชื่อที่ว่าเป็นยาโด๊ปไม่ทราบเช่นกัน คิดว่าเป็นเรื่องหลอกกันมากกว่า หรืออาจจะโกหกกันเล่น เพราะสมอง ก็ไม่ได้มีคุณค่าทางด้านโปรตีนไปกว่าเนื้ออย่างอื่นแต่อย่างใด ซึ่งก็กินได้ แต่ต้องทำให้สุกสะอาด เพราะคนโบราณและหลายหมู่บ้านก็นำมาปรุงอาหาร ซึ่งตนก็เคยกินเช่นกัน แต่ไม่ได้เชื่ออย่างที่บอก
“ในส่วนการกินสมองสุนัขของคนบางกลุ่มก็เช่นกัน ยังไม่เคยเห็น และไม่อยากให้กิน หรือเชื่อ เพราะก็มีคุณค่าไม่ต่างไปจากสมองสัตว์อื่นแต่อย่างใด ที่สำคัญการกินหรือบริโภคอะไรก็ตาม ขอเตือนว่าต้องให้สุก และใหม่ ตลอดจนสะอาด โดยเฉพาะสุนัขนั้น อาจติดเชื้อโรคที่มากับสุนัขได้ ยิ่งพิษสุนัขบ้าต้องระวัง แม้จะยังไม่มีรายงานคนติดพิษสุนัขบ้าจากการบริโภคก็ตาม”
ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับตลาดค้าสุนัขในเขตตำบลท่าแร่ ยังคงมีร้านจำหน่ายเนื้อแดดเดียว และเนื้อสุนัขสด จำนวน 2-3 แห่งเท่านั้น
แต่ได้ขยับออกจากเขตเทศบาลตำบลท่าแร่ อยู่ที่ถนนสายท่าแร่-ศรีสงคราม ราว 500 เมตร ยังคงเปิดจำหน่ายทุกวัน ทั้งเนื้อสดและเนื้อแดดเดียว แต่มีราคาสูงขึ้นเล็กน้อย สอบถามผู้จำหน่ายทราบว่า ปัจจุบันเนื้อสุนัขแพงขึ้น และหายากเนื่องจากการกวดขันในการขนส่ง ทำให้ตลาดจำหน่ายพลอยเงียบไปด้วย แต่ผู้นิยมกินก็ยังเท่าเดิม