รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา สคบ.ได้เชิญผู้ประกอบการโรงหนัง ทั้งบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป และบริษัท เอสเอฟ ซีเนม่า คอร์ปเรชัน พร้อมทั้งตัวแทนจากภาครัฐ ทั้งกรมการค้าภายใน กรมสรรพากร หารือเกี่ยวกับการให้บริการผู้บริโภคในโรงภาพยนตร์ หลังจากที่ผ่านมาได้รับร้องเรียนว่า ผู้ประกอบการคิดราคาค่าบริการแพงเกินความจริง ซึ่งจากการหารือ ทางผู้ประกอบการได้ยืนยันว่าไม่สามารถปรับลดค่าบัตรชมภาพยนตร์ได้ เพราะได้รับผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้ต้นทุนสูง รวมทั้งยังมีต้นทุนค่าเช่าสถานที่ ซึ่งตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ หรืออยู่กลางใจเมือง โดยคิดเป็น 15% ของรายได้ทั้งหมด และอีก 50% เป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าของภาพยนตร์ อีกทั้งยังยังไม่รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษีด้วย
“นอกจากจะต้องจ่ายค่าแรง ที่โรงภาพยนตร์บางแห่งต้องจ้างแม่บ้าน บริษัทรักษาความปลอดภัย และค่าแรงพนักงานหน้าเคาน์เตอร์แล้ว การที่โรงภาพยนตร์เปลี่ยนระบบการฉายมาเป็นระบบดิจิตอลทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในวันธรรมดา บางโรงภาพยนตร์มีผู้เข้าชมเพียง 4-5 คนต่อโรง ผู้ประกอบการก็ยังต้องฉายภาพยนตร์อาจทำให้ขาดทุนได้ ถ้าเฉลี่ยกันแล้วก็ถือเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว”
อย่างไรก็ตามสคบ.ได้ทำการสอบถามผู้ประกอบการว่าสามารถปรับลดราคาได้หรือไม่ มีผู้ประกอบการแจ้งว่า
แม้ว่าจะปรับลดไม่ได้ทันที แต่จะขอจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับเจ้าของภาพยนตร์ที่เข้าฉายว่ามีต้นทุนใดที่สามารถปรับลดได้หรือไม่ ส่วนกรณีอาหารและเครื่องดื่มที่มีราคาแพงนั้น บางรายได้ยอมดำเนินการตามคำขอของสคบ.โดยจะกลับไปพิจารณาปรับลดขนาดของอาหารและเครื่องดื่มลงแทน
รายงานข่าว กล่าวว่า ได้คำนวณต้นทุนของผู้ใช้บริการโรงภาพยนตร์ต่อราย
พบว่า แต่ละคนจะใช้ค่าใช้จ่ายมากถึง 319 บาทต่อคนต่อภาพยนตร์1 เรื่อง แบ่งเป็นค่าขนมขบเคี้ยว 159 บาท เป็นบัตรค่าชมภาพยนตร์ 160 บาท หากเทียบค่าแรงขั้นของไทยที่ 300 บาทต่อวันเท่านั้น ถือว่าไม่มีความเหมาะสม หากผู้ประกอบการจะคิดราคาค่าบริการที่แพงขนาดนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับลดราคาลงมา เพื่อให้ผู้บริโภคมีความสุขในการรับบริการด้วย
นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องการฉายโฆษณา และภาพยนตร์ตัวอย่างเป็นเวลานานนั้น ผู้ประกอบการแจ้งว่า ในส่วนของโฆษณาจะฉายไม่ถึง 6 นาทีต่อรอบ
และฉายภาพยนตร์ประมาณ 4 นาที ซึ่งสคบ.ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ประกอบการมักฉายสลับกัน ทำให้ผู้บริโภครู้สึกอึดอัด จึงขอให้แยกการฉายโฆษณาและภาพยนตร์ตัวอย่างออกจากกัน ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมภายในโรงภาพยนตร์นั้น ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง แจ้งว่า ที่ผ่านมาได้เข้าไปตรวจสอบโรงภาพยนตร์แล้ว พบว่าสภาพอากาศ และทางหนีไฟ ตรงตามมาตรฐานแล้ว