กฟผ.เตรียมแผนรับมือปิดแอร์ล้านเครื่อง วันละ 1 ชั่วโมง หากต้องหยุดใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้า รองรับไฟฟ้าดับ
หลังจากที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน เนื่องจากพม่าจะปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติที่ป้อนให้ไทย ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าในไทย
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ยืนยันจะไม่ให้ไฟฟ้าดับแน่นอน
และได้เตรียมมาตรการรองรับไม่ให้ไฟฟ้าดับไว้แล้ว แต่ควรมีการรณรงค์ประหยัดพลังงานพร้อมกันไปด้วย หากดำเนินการได้ในช่วงบ่ายของวันใดวันหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงใช้ไฟพีค ระหว่างเวลา 13.00-15.00 น. พร้อมทั้งปิดการใช้เครื่องปรับอากาศชั่วคราวได้ 1 ล้านเครื่อง (ขนาด 1.2 หมื่นบีทียู) จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 1,000 เมกะวัตต์
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) กล่าวว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติจะตกประมาณ 2 บาทต่อหน่วย ขณะที่น้ำมันเตามีต้นทุนอยู่ที่กว่า 4 บาทต่อหน่วย และน้ำมันดีเซลอยู่ที่กว่า 6 บาทต่อหน่วย
“การที่ก๊าซขาดจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ให้เพิ่มขึ้น แต่จะเพิ่มสูงมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับปริมาณการใช้ไฟในขณะนั้น และที่ผ่านมามีการขึ้นค่าเอฟทีแต่น้อยกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง” นายดิเรก กล่าว
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ นายพงษ์ศักดิ์เตรียมเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน วันที่ 20 ก.พ.นี้ เพื่อหารือมาตรการรับมือการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาของพม่า
ด้านรมว.พลังงาน กล่าวว่า ก่อนการประชุมได้สั่งการให้ กฟผ. ไปตรวจสอบให้ชัดเจน
ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายไปประมาณ 1,100 ลูกบาศก์ฟุต/วัน จนทำให้เกิดความเสี่ยงไฟฟ้าดับ พร้อมทั้งศึกษามาตรการรองรับมาเสนอในที่ประชุมด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พม่าเคยปิดซ่อมท่อก๊าซ แปลกใจว่าทำไมรมว.พลังงานจึงไม่มีแผนรองรับ แต่กลับพูดทำนองว่าสถานการณ์แย่แล้ว เหมือนต้องการให้เกิดความกลัวซึ่งไม่รู้ว่าจะนำไปสู่ความชอบธรรมที่จะขึ้นราคาก๊าซหรือไม่
ทั้งนี้ มีความพยายามสร้างกระแสเรื่องนี้อยู่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ที่มีการอ้างเรื่องเดิมว่าต้องนำเข้า ต้องใช้เงินชดเชย ทั้งที่สามารถแยกส่วนแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรม