ภาครัฐและภาคเอกชนเห็นพ้องขยายเวลา 11 มาตรการบรรเทาผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำออกไป 1 ปี ส่วน 6 ข้อเสนอเอกชนยกไปหารือ 3 ธ.ค.
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทอีก 70 จังหวัดที่เหลือในวันที่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติขยายเวลา 11 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทออกไป 1 ปี
จากเดิมที่ออกมาช่วงนำร่องปรับขึ้นค่าแรงงานใน 7 จังหวัดเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เช่น มาตรการลดอัตราเงินสบทบกองทุนประกันสังคมจาก 5% เหลือฝ่ายละ 4% ขยายระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิตของธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) วงเงินช่วยเหลือ 2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาปล่อยกู้ 2 ปี แบ่งเป็น ปีแรก 7,500 ล้านบาท และปีที่ 2 วงเงิน 12,500 ล้านบาท โดยให้เพิ่มเป็น 3 ปี โดยวงเงินช่วยเหลือในปีที่ 3 จะต้องมีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าควรอยู่ที่เท่าไร ซึ่งเห็นว่าไม่ควรน้อยกว่าปีที่ 2
ส่วนอีก 6 มาตรการเพิ่มเติมตามที่ภาคเอกชนเสนอ จะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 3 ธ.ค. นี้
ซึ่งจะมีมาตรการเพิ่มสภาพคล่องผู้ประกอบการ ลดเงินสมทบประกันสังคม เพิ่มงบประมาณใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการด้านภาษี โดยจะพยายามเร่งให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้ทันกับการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำในวันที่ 1 มกราคม 2556