เคาะแล้ว!1ม.ค.56ค่าจ้าง300ทั่วปท.

เคาะแล้ว!1ม.ค.56ค่าจ้าง300ทั่วปท.

บอร์ดค่าจ้างกลางเคาะ 300 บาท อีก 70 จังหวัด ในวันที่ 1 ม.ค. 56 ยันไม่กระทบภาพรวมศก.ของปท. อ้างจีดีพี โตร้อยละ 4.2 เร่งรวบรวมข้อเสนอลดผลกระทบของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เสนอรบ.ขยายมาตรการช่วยเหลือเฟสสอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 55  นายแพทย์ สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.)

ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวหลังประชุมคณะกรรมค่าจ้างกลางว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบยืนยันตามมติเดิมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 โดยให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ วันที่ 1 มกราคม 2556 และให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาท เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2558 ทั้งนี้ สาเหตุที่คณะกรรมการค่าจ้างยืนยันมติเดิม เนื่องจากได้ติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคมและแรงงาน ภายหลังเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 โดยมี 7 จังหวัดที่อัตราค่าจ้างปรับเป็นวันละ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และภูเก็ต

ทั้งนี้ ได้พบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ

โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2 ถึงร้อยละ 4.2 สูงกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น 2. ผลกระทบจากการลงทุนของภาคเอกชน พบว่าในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีนักลงทุนต่างชาติเสนอโครงการขอรับเงินส่งเสริมการลงทุน 829 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เงินลงทุนรวม 3.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 62 3.อัตราเงินเฟ้อในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมาพบว่าปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.92 ซึ่งต่ำกว่าที่บอร์ดค่าจ้างคาดการณ์ไว้ว่าอยู่ที่ร้อยละ 3.3-3.8 

         
3. อัตราการว่างงานไม่ได้สูงขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วงเดือนมกราคม-มิถนายน 2555 อยู่ที่อัตราร้อยละ 0.8 ซึ่งถือว่าต่ำ 4. ส่วนการเลิกจ้างก็ไม่ได้มีอัตราเพิ่มขึ้น โดยจากการสำรวจของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) พบว่าสถานประกอบการ 9,098 แห่ง ลูกจ้างกว่า 3.5 แสนคน พบว่าตั้งแต่ช่วงเดือน เมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า มีการเลิกจ้างเพียง 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.02 ลูกจ้างจำนวน 144 คนคิดเป็นร้อยละ 0.04 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ผิดปกติ ไม่มีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 5. ผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) พบว่า ร้อยละ 80 ได้รับผลกระทบ แต่ในจำนวนนี้ ร้อยละ 99 ปรับตัวได้ ซึ่งเป็นผลสำรวจจากกระทรวงแรงงานร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งมองไปในทิศทางเดียวกัน 

         
นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ส่วน 6. ผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะสั้น

ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาผลิตภาพแรงงานมีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 10 ปีย้อนหลังก่อนมีการปรับขึ้นค่าจ้าง ผลิตภาพแรงงานมีการปรับเพิ่มขึ้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 2-3 เท่านั้น ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการมีการกระตุ้นให้แรงงมานปรับการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ส่วนระยะกลางทำให้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตและการบริหารจัดการมากขึ้น และระยะยาวทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิดการลงทุนและการผผลิตจากประเทศที่กำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว 7. การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำช่วยลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ที่เป็นธรรม 8. ทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ภายใน 2 สัปดาห์จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป 

         
ประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวถึงมาตรการรองรับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างใน 70 จังหวัดว่า
 
จะรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้มีการจัดสัมมนามารับฟังข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่องและมีข้อเสนอต่างๆ เช่น การขยายเวลาลดเงินสมทบประกันสังคมออกไปอีก 1 ปี การขยายเวลาลดภาษีเงินส่วนต่างของค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นที่จะหมดกำหนดในเดือนธ.ค.นี้ การจัดตั้งกองทุนเงินกู้จำนวน 1-2 หมื่นล้านให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยข้อเสนอแต่ละเรื่องก็จะเสนอต่อไปยังกระทรวงที่เป็นเจ้าของเรื่อง เช่น กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาต่อไป รวมทั้งจะรวบรวมมาตรการต่างๆเสนอเป็นแพคเกจเข้าครม.ภายในเดือนธันวาคมนี้ด้วย เพื่อให้มาตรการรองรับออกมาทันกับการปรับขึ้นค่าจ้างในวันที่ 1 มกราคม 2556


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์