ห่วงพิษเงินเฟ้อ-บัณฑิตใหม่5.3แสนคนตกงาน

ห่วงพิษเงินเฟ้อ-บัณฑิตใหม่5.3แสนคนตกงาน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์

แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสแรกปี 2555 ว่า ในไตรมาสแรกอัตราการว่างงานยังอยู่ที่ 0.73% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 0.83% คิดเป็นผู้ว่างงานจำนวน 285,150 คน เพราะหลังจากผ่านช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้เริ่มทยอยเรียกแรงงานให้กลับเข้ามาทำงานแล้ว แม้ว่าจะยังไม่สามารถทำการผลิตได้เต็มที่ แต่การว่างงานดังกล่าวพบว่า มีแรงงานแฝงมากขึ้น 1.44% โดยมีจำนวนถึง 557,540 คนเพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อน 29.2% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตที่มากขึ้น

สำหรับในปีนี้มีสิ่งที่ควรเฝ้าระวัง 3 เรื่อง คือ
 
แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มราคาพลังงานในประเทศ การปรับเพิ่มผลิตภาพของแรงงานต้องสูงขึ้นตามการปรับขึ้นค่าแรง รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้จบการศึกษาใหม่ที่คาดว่าจะมีถึง 530,000 คน อาจทำให้มีการชะลอการจ้างงานหรือจ้างงานเฉพาะที่ตรงกับความต้องการเท่านั้น ดังนั้น สศช.จึงเตรียมรวบรวมผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท เพราะการขึ้นค่าแรงทุกๆ 1% จะกระทบต้นทุนของธุรกิจ 0.16% และการปรับขึ้นค่าแรง 40% ตามนโยบายรัฐบาลจะกระทบต้นทุนธุรกิจประมาณ 10%

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสศช.กล่าวว่า
 
ในปี 2555 สัดส่วนของหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากปี 2554 ที่มีอยู่ 55.8% ของครัวเรือนทั่วประเทศหรือประมาณ 134,900 บาทต่อครัวเรือน โดยส่วนหนึ่งเป็นการก่อหนี้จากผลการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ต่อเนื่องมาจากปี 2554 ทั้งนโยบายเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 นโยบายบ้านหลังแรก รถคันแรก และการแปลงหนี้นอกระบบให้เข้าสู่ระบบ

ขณะเดียวกันยังมีการก่อหนี้รายย่อยเพิ่มขึ้นเห็นได้จากยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต เมื่อสิ้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 10.8%
 
จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 6.4% ส่วนยอด สินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไป เพิ่มขึ้น 13.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 0.7% ขณะที่การให้สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ยังสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากประชาชนต้องกู้เงินมาซ่อมแซมและฟื้นฟูที่อยู่อาศัยรวมทั้งรถยนต์หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะประชาชนส่วนหนึ่งได้ใช้บัตรเครดิตแทนเงินสดซื้อสิ่งของมากขึ้น

สำหรับโครงสร้างประชากรไทยในปัจจุบันได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว
 
โดยสัดส่วนผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้นจาก 11.9% ในปี 2553 เป็น 25.1% ในปี 2573 ขณะที่วัยเด็กและวัยแรงงานลดลงโดยเฉพาะแรงงานอายุต่ำกว่า 35 ปี เริ่มหดตัวลงตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาระและความเสี่ยงต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต แต่มีแนวทางป้องกัน 3 แนวทาง คือควรจ้างงานในระบบ โดยเปิดโอกาสจ้างงานสตรีและผู้สูงอายุมากขึ้น ยกระดับการศึกษาและผลิตภาพแรงงาน พัฒนาแรงงานให้มีทักษะฝีมือสูง และส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพในทุกกลุ่มวัยมากขึ้น

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์