ยอดขายบะหมี่ซอง 4 เดือนแรกโตกว่า 10% เหตุเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในยุคสินค้าแพง ทุ่ม 600 ล้านบาท ทำโรงงานแป้งสาลีเองหวังลดต้นทุน พร้อมขยายไลน์การผลิตเพิ่มอีก 3 ไลน์ รองรับการเติบโต
นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา "มาม่า"
เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-เมษายน) เติบโตถึง 10% เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถือเป็นอาหารทางเลือกที่ต้องมีติดไว้ทุกบ้าน ทั้งในยามปกติและของแพง และจากสถานการณ์ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้ประเมินว่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปีนี้จะโตได้กว่าปีที่ผ่านมากว่า 10% จากที่ปีที่ผ่านมาในช่วง 9 เดือนแรกตลาดทรงๆ แต่มาโตในช่วง 3 เดือนสุดท้าย แต่ก็ยังต่ำกว่า 10% และหากไม่มีสถานการณ์น้ำท่วมช่วงปลายปีที่ผ่านมาเชื่อว่าตลาดจะไม่โตได้ใน ระดับนี้
"ปีนี้ของแพง และมาม่าถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค เป็นความหวังของคน จึงประเมินว่าตลาดจะโตได้อย่างโดดเด่นเกิน 10% ยืนยันว่าของพอขายไม่ขาดและจะจำหน่ายในราคาเดิมต่อไป"
นายพิพัฒกล่าว ว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญกับเรื่องแผนโดยเน้นการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อไม่ต้องปรับราคาสินค้าเพิ่ม
เช่น การสร้างโรงงานผลิตแป้งสาลีเอง ด้วยงบลงทุน 600 ล้านบาท เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างบริษัท กับบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอร์รี่ จำกัด (มหาชน) มีกำลังการผลิต 300 ตันต่อวัน เพื่อใช้ในการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เปิดดำเนินการได้ในปีหน้า พร้อมทั้งได้ออกสินค้ารสชาติใหม่เพิ่มเติม รสแกงเขียวหวานไก่ เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาด รวมทั้งมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตบะหมี่ซองอีก 3 ไลน์ ซึ่งไลน์การผลิตจะติดตั้งได้แล้วเสร็จในปีหน้า เพื่อเป็นการรองรับการเติบโตของการบริโภคบะหมี่ในประเทศอีกด้วย
"จาก ข้อมูลของที่ประชุมบะหมี่โลกพบว่า อัตราการผลิตและบริโภคบะหมี่ของประเทศไทยในขณะนี้อยู่ที่อันดับ 7 ของโลก สำหรับประเทศที่มีการบริโภคอันดับ 1 คือ จีน กำลังการผลิตร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตทั้งโลก 2.อินโดนีเซีย 3.ญี่ปุ่น 4.เกาหลีใต้ 5. เวียดนาม 6.ฟิลิปปินส์"
นายพิพัฒกล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมไว้ที่ 11,000 ล้านบาท
โตขึ้นจากปีก่อนประมาณ 10% มีรายได้รวมทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายในประเทศประมาณ 8,000 ล้านบาท และส่งออกอีกประมาณ 1,600 ล้านบาท พร้อมกันนี้ทางบริษัทยังมีแผนที่จะไปลงทุนเปิดโรงงานในต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม เช่น กานา และพม่า