วันนี้ (15 พ.ค.) นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และกรรมการด้านกิจการโทรคมนาคม(กทค.) กล่าวว่า
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552-2554 สำนักงาน กสทช. ได้รวบรวมหนังสือรับรองคุณภาพมือถือ ซึ่งนำเข้าจากประเทศจีน 400 รุ่น แล้วส่งกลับไปให้บริษัทผลิตโทรศัพท์มือถือที่ประเทศจีนเพื่อตรวจสอบเอกสาร ซึ่งพบว่ามีโทรศัพท์มือถือถึง 280 รุ่น ที่ใช้เอกสารรับรองคุณภาพโทรศัพท์มือถือปลอม ทั้งนี้จากการสอบถามบริษัทที่นำเข้าโทรศัพท์มือถือจากประเทศจีน พบว่าเวลาไปซื้อโทรศัพท์มือถือจากโรงงานในประเทศจีนก็จะไปที่บริษัทแล้วเลือกรุ่นโทรศัพท์มือถือที่ต้องการ โดยทางบริษัทจะมีใบอนุญาตรับรองคุณภาพโทรศัพท์มือถือที่ตรวจสอบแล้วแนบมาในกล่องให้ ซึ่งบริษัทที่นำเข้าก็ไม่รู้ว่าเป็นเอกสารปลอม
นพ.ประวิทย์ กล่าวต่อว่า เรื่องเอกสารปลอมที่เกิดขึ้น ที่ประชุม กทค. ได้สั่งให้สำนักงาน กสทช. ไปตรวจสอบเอกสารและดำเนินงานตั้งแต่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา
แต่ขณะนี้ยังได้รับรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ ทั้งนี้สิ่งที่ กทค. สามารถทำได้ คือมีมติเพิกถอนใบอนุญาตในการนำเข้าและเรียกคืนเครื่องจากท้องตลาด แจ้งศุลกากรให้ช่วยตรวจสอบการนำเข้าเครื่องโทรศัพท์มือถือ แนะนำให้บริษัทเอกชนที่นำเข้าโทรศัพท์มือถือเลือกบริษัทผลิตมือถือจากจีนที่เชื่อถือได้ และทำหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตการนำเข้าโทรศัพท์มือถือที่รัดกุม โดยหากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงาน กสทช. แล้ว ทาง กทค. จะมีมติออกประกาศห้ามจำหน่ายและนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นที่พบว่าใช้ใบอนุญาตและใบรับรองคุณภาพปลอม แต่ขณะนี้สำนักงาน กสทช. ยังไม่ได้สรุปว่าเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ตรวจสอบว่ามีใบรับรองคุณภาพปลอมเป็นเครื่องที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งการตรวจสอบว่าเอกสารปลอมก็ไม่ได้แปลว่าเครื่องไม่ดี ดังนั้นต้องนำเครื่องไปตรวจคุณภาพก่อน ทั้งนี้คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ กทค. จะได้รับการเสนอเรื่องดังกล่าวจากสำนักงานกสทช. เข้าที่ประชุม เพื่อจะได้มีมติเพิกถอนใบอนุญาตและประกาศห้ามจำหน่ายและนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นที่พบว่าใช้ใบอนุญาตและใบรับรองคุณภาพปลอม
ส่วนกรณีผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องโทรศัพท์มือถือที่มีใบรับรองคุณภาพปลอมมาใช้ สามารถเรียกเงินคืนจากร้านค้าที่ซื้อเครื่องมือถือมาได้หรือไม่
นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ. ความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้บริโภคต้องชี้แจงให้ได้ว่าเสียหายอย่างไร เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือที่มีใบรับรองคุณภาพปลอม แล้วทำให้คลื่นรบกวนอุปกรณ์ไฟฟ้าจนทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนจะคืนเครื่องมือถือได้หรือไม่ ในขณะที่ตกลงจะซื้อเครื่องมือถือก็ถือว่าเป็นการสมยอมกันไปแล้ว โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะได้เงินคืน