ท่าเรือภูเก็ตเหงา นทท.ลดเกือบครึ่ง ขณะที่ผอ.สนามบินภูเก็ตคาด 12เม.ย.จะไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ส่วนที่พังงา ผู้ประกอบการเปิดให้บริการตามปกติ โวยสัญญาณเตือนภัยเบา หอหลบภัยไม่พร้อมรับสถานการณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 55 ที่ท่าเทียบเรือรัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวิชัย คำคง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 รับผิดชอบพื้นที่ 6 จว.อันดามัน ได้แก่ ภูเก็ตพังงา กระบี่ ตรัง ระนอง และสตูล พร้อมด้วยนายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบความพร้อมการให้บริการของเรือโดยสารที่นำนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังเกาะแก่งต่าง ๆ เช่น เกาะพีพี อ่าวพังงา เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่จำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายวิชัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบเรือโดยสารที่ให้บริการนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นการเน้นย้ำให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลซึ่งจะมีผู้มาใช้บริการมากกว่าปกติ ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ก็ได้มีการมาตรวจสอบความพร้อมของท่าเทียบเรือและเรือที่ให้บริการอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อถึงช่วงเทศกาลก็จะเพิ่มความเข้มมากขึ้น พร้อมทั้งได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการด้วย
"จากการตรวจสอบพบว่ามีการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับเรือที่มีใบอนุญาตถูกต้อง พนักงานประจำเรือ อุปกรณ์ช่วยชีวิตเพียงพอกับจำนวนผู้โดยสาร และความพร้อมของตัวเรือ"
นายวิชัย ยังกล่าวอีกว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและมีประกาศเตือนภัยสึนามิเมื่อวานนี้ (11 เม.ย.) จากการที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการหลายราย ทราบว่ามีนักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนไม่ต่ำกว่า 50% แต่เนื่องจากยังมีคำประกาศให้เฝ้าระวังในระยะ 1-2 วันนี้ ก็ได้กำชับกับผู้ประกอบการให้ติดตามข่าวสารจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติอย่างใกล้ชิด รวมทั้งยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือต่างๆ สังเกตระดับน้ำที่มีการขึ้นลงด้วยว่าเป็นอย่างไร รวมถึงจะต้องติดตามข่าวจากศูนย์เตือนภัยพิบัติด้วย
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต กล่าวว่า ได้มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจสอบความพร้อมของท่าเทียบเรือและการให้บริการต่างๆ มาตั้งแต่ก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์ และมีการเพิ่มความเข้มในช่วงระหว่างวันที่ 5-17 เมษายนนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการและนักท่องเที่ยว โดยเน้นการดูแลไม่ให้มีการบรรทุกเกินจากที่กฎหมายกำหนด เพราะจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ รวมทั้งยังได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยวได้รับทราบการปฏิบัติตัวระหว่างอยู่บนเรือโดยสารด้วย ซึ่งปีนี้เรามีเป้าหมายที่จะลดการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำเป็นศูนย์
ผอ.ท่าอากาศยานภูเก็ต คาด 12 เม.ย.จะไม่มีผู้โดยสารตกค้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณเคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบินต่างๆ ในท่าอากาศยานภูเก็ต มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติจำนวนมาก ได้มารอเพื่อเช็คอินเดินทางออกจากสนามบินภูเก็ต ภายหลังที่มีการเปิดให้บริการตามปกติ เนื่องจากมีการประกาศปิดให้บริการชั่วคราวเพราะเกิดแผ่นดินไหว และมีการประกาศเตือนภัยสึนามิเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 11 เม.ย. แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องผิดหวัง เพราะไม่มีเที่ยวบินมารับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรุ๊ปทัวร์ และได้เดินทางกลับเข้าไปพักยังโรงแรมในตัวเมืองภูเก็ต
จากการสอบถามนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่บอกว่าไม่ติดใจ เพราะทราบว่าเป็นเรื่องภัยธรรมชาติ ที่สามารถจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ซึ่งการเดินทางออกจากภูเก็ตนั้น ก็เป็นไปตามกำหนดที่จะต้องเดินทางคือ 11 เม.ย. ไม่เกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหว หรือการเตือนภัยสึนามิ
ทางด้านนายประเทือง ศรขำ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและมีการประกาศเตือนภัยสึนามิ ก็ได้มีการแจ้งเตือนสายการบินต่างๆ ว่าท่าอากาศยานภูเก็ตจะต้องปิดให้บริการชั่วคราว เพื่อความปลอดภัย ทำให้เครื่องบินไม่สามารถขึ้นลงได้ โดยได้มีการอพยพผู้โดยสารทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่มารอขึ้นเครื่อง ซึ่งขณะนั้นมีจำนวนมากกว่า 1,000 คน ไปยังจุดอพยพที่อาคารครัวการบินไทย โดยทางการท่าฯ ได้มีการจัดรถบริการ รวมทั้งอาหารและเครื่องดื่มเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น แต่หลังจากที่มีการประกาศยกเลิกเตือนภัยสึนามิก็ได้มีการประกาศเปิดให้บริการเช่นเดิม แต่เนื่องจากได้มีการนำเครื่องบินออกไปจากสนามบินแล้ว และกว่าที่จะกลับเข้ามาต้องใช้เวลาพอสมควร ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถที่จะเดินทางได้ในทันที ต้องรอเครื่องบินมารับ ซึ่งจะต้องใช้เวลาพอสมควร แต่คาดว่าในวันที่ 12 เม.ย. จะมีเครื่องบินมารับผู้โดยสารที่ตกค้างอยู่ออกไปได้ทั้งหมด
ชาวบ้านตะกั่วป่า- ร้านค้า กลับมาใช้ชีวิต-เปิดขายของกันตามปกติ
ผู้สื่อข่าวได้ลงไปในพื้นที่ บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา พบว่า ชาวบ้านได้กลับเข้าบ้านและใช้ชีวิตตามปกติแล้ว ร้านค้าก็เปิดขายของกันตามปกติ ส่วนทางด้านการเดินทางไปดำน้ำและท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลก็ดำเนินไปตามปกติแม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ยกเลิกการเดินทาง
นางสาวชุติกาญจน์ ปองดี อายุ 29 ปี บ้านอยู่ อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ พนักงานโรงแรมอันดามันปริ้นเสส ซึ่งอยู่ใน ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า ซึ่งเดินทางไปทำงานอย่างปกติ กล่าวว่า ที่ท่าเรือบ้านน้ำเค็มในช่วงที่เกิดเหตุนั้นมีนักท่องเที่ยวพักอยู่ 50 คน ทางโรงแรมได้แจ้งให้ทางพนักงานและนักท่องเที่ยวขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้าซึ่งสูงประมาณ 30 เมตร ซึ่งก็มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง โดยส่วนตัวแล้วแม้ว่าจะรู้สึกกลัวอยู่บ้างแต่ก็ยังต้องทำงานต่อไป ซึ่งคิดว่ามั่นใจในระบบเตือนภัยที่มีการติดตั้งอยู่
ผู้ประสบเหตุรายหนึ่งที่อยู่ใน ต.เกาะคอเขา กล่าวว่า หอหลบภัยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ไม่มีความพร้อมในการใช้งานเลย เมื่อคืนที่ผ่านมานั้นมีผู้ประสบเหตุมาพักอยู่ประมาณ 20 คน ทุกคนต้องพยายามหาเทียนจุด เพื่อให้แสงสว่างประกอบกับไม่มีน้ำ และกระแสไฟฟ้า ทั้งๆ ที่สร้างเสร็จมาแล้วร่วม 5 ปี
ขณะที่บริเวณท่าเรือแหลม 5 ธันวา ติดกับอนุสรณ์ สึนามิพบว่า บริษัททัวร์ยังเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวตามปกติ และมีเรือของบริษัทบิ๊กบรู ที่บริการนักท่องเที่ยวไปดำน้ำในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ก็นำเอาเรือสปี้ดโบทขนาดบรรจุนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 30 คน มารับนักท่องเที่ยวตามปกติ พนักงานประจำเรือ กล่าวว่า แม้จะรู้สึกกลัวบ้าง แต่เมื่อทางบริษัทส่งนักท่องเที่ยวมาก็ต้องออกเรือ และวันนี้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางไปจำนวน 2 คน ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
นายบันลือ ชูศิลป์ ซึ่งเป็นชุดเฝ้าระวังชายทะเลบ้านน้ำเค็ม กล่าวว่า ขณะนี้ก็ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง แม้ว่าจะมีการแจ้งยกเลิกการเตือนภัยไปแล้วก็ตาม ซึ่งตนเองก็อยู่บริเวณชายทะเลบ้านน้ำเค็มมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 เม.ย. เพราะทางชุดเฝ้าระวังนั้นได้มอบหมายให้เป็นผู้สังเกตระดับน้ำทะเล และรายงานให้กับทางหน่วยเหนือทราบเป็นระยะๆ ซึ่งภูมิใจว่า ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว แม้ว่าจะเสี่ยงอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามหากเกิดคลื่นยักษ์ขึ้นจริงก็จะใช้รถจักรยานยนต์หนีไปขึ้นหอหลบภัยได้ทันในเวลาไม่เกิน 5 นาที
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มีชาวบ้านน้ำเค็มหลายรายต่างบ่นว่าเสียงสัญญาณเตือนภัยที่ปล่อยเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ระดับเสียงเบามาก อยากให้ทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพิ่มระดับของเสียงเตือนภัยให้ดังกว่านี้ เพราะหากไม่ตั้งใจฟังแล้ว จะไม่ได้ยินสัญญาณเลย