ยาม-ก่อสร้างเสี่ยงเลิกจ้างหลังค่าแรง300

ยาม-ก่อสร้างเสี่ยงเลิกจ้างหลังค่าแรง300

หอการค้าจี้รัฐทบทวนขึ้นค่าแรง 300 บาท ห่วงเอสเอ็มอีกว่า 2 แสนรายอาจต้องปิดกิจการ-ย้ายฐานลงทุน ชี้อาชีพยาม-ก่อสร้างเสี่ยงถูกเลิกจ้างสูง ด้านลูกจ้างร้องถูกบีบเซ็นยินยอมรับค่าจ้างเท่าเดิม

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่มีการจ้างงานตั้งแต่ 1-25 คน ที่คิดเป็นสัดส่วน 98% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบทันทีประมาณ 40% แต่หากถึงกำหนดที่จะต้องปรับค่าแรงทั้งประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 จะยิ่งได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น โดยคาดว่าผู้ประกอบการ 10% ของเอสเอ็มอีทั้งหมด หรือประมาณ 2 แสนรายจะต้องปิดกิจการ ซึ่งในจำนวนนี้ 5.6% หนีไปลงทุนต่างประเทศ 

นายภูมินทร์ กล่าวต่อว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ได้แก่ ธุรกิจรักษาความปลอดภัย เพราะส่วนใหญ่ทำสัญญากับผู้ว่าจ้างไปแล้ว และมีอายุสัญญา 3-5 ปี โดยได้คำนวณค่าแรง และค่าบริการต่างๆ ไว้แล้ว หากต้องขึ้นค่าแรง 300บาท ก็ไม่สามารถขอแก้ไขสัญญาว่าจ้างได้ และยังมีธุรกิจก่อสร้างที่มีลักษณะว่าจ้างที่คล้ายกัน เพราะในการเสนองานต่างๆ มีการกำหนดค่าใช้จ่ายไว้แล้ว ทั้งค่าก่อสร้าง ค่าจ้างแรงงาน แต่การปรับขึ้นค่าแรงผู้ประกอบการจะต้องรับภาระที่เพิ่มขึ้น ไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้ว่าจ้างได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการจะต้องลดค่าใช้จ่าย ก็ต้องปลดลูกจ้างบางส่วนออก

"พูดง่ายๆ เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบหมด ตอนนี้ถ้าใครอยากลดค่าใช้จ่าย ก็ต้องเอาคนออกอย่างบริษัทยาม บริษัทก่อสร้าง ถ้ารับภาระไม่ไหว ก็ต้องให้ออก แล้วไปเพิ่มปริมาณงานให้แก่คนที่ยังอยู่ ซึ่งหอการค้าไทยได้ยืนยันมาตลอดว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ จะสร้างผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้น รัฐบาลจึงควรพิจารณาทบทวน โดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการทั้งหมด เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น"

นายภูมินทร์ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 ของรัฐบาล มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่เห็นด้วยส่วนใหญ่เป็นพวกใช้แรงงานน้อย และใช้เครื่องจักรเยอะ การปรับขึ้นค่าแรงจึงกระทบไม่มาก ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม เอสเอ็มอี 98% เพราะการปรับขึ้นค่าแรง เป็นการเพิ่มต้นทุนสูง ขณะที่การเพิ่มขีดความสามารถแรงงานให้สอดคล้องกับค่าแรก็ยังไม่มีมาตรการ หรือแนวทางอะไรชัดเจน  

"หอการค้าได้เสนอความกังวลต่อนโยบายของรัฐบาลมาโดยตลอด ซึ่งวันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า “ต้องปรับขึ้น” แต่การปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น ขอให้เป็นไปตามกฎหมายผ่านคณะกรรมการไตรภาคี แต่การพิจารณาที่ผ่านๆ มา ก็ไม่ได้มีการทบทวน และรัฐยืนยันที่จะต้องปรับขึ้น และข้อสุดท้ายขอให้รัฐเพิ่มขีดความสามารถให้แก่แรงงานเพื่อลดการสูญเสีย รัฐก็ยังไม่ตอบสนอง" รองประธานหอการค้าไทยกล่าว

ขณะที่นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานบริหาร บริษัท ซีแวลู จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา "ผลกระทบการขึ้นค่าแรงงานที่มีต่อเอสเอ็มอี" จัดโดยธนาคารกสิกรไทยว่า ขณะนี้เกรงว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีกหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศเพิ่มค่า แรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทแล้ว เพราะการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 บาท เป็นการกำหนดที่ไร้ทิศทาง ในแผนงานของกระทรวงแรงงานก็ไม่มีเรื่อง 300 บาท ยืนยันว่าข้าราชการไม่มีตัวเลขที่มาของ 300 บาทแน่นอน 

  "ภาคการเมืองไม่เคยมีการศึกษาให้ดีก่อน คือประกาศออกมาก่อน เปรียบเสมือนโลงกับศพ ที่คนทำโลงไม่ได้ใช้ ผีเท่านั้นที่ได้ใช้โลงศพ ทำอะไรไม่เคยคิดมาก่อน เพราะมันไม่ได้หยุดแค่ 300 บาท ยังมีค่าโอทีอีก ครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการปรับค่าแรงงานอย่างไร้สติ เพราะมันจะเป็นลูกระนาด" นายพจน์กล่าว

นายพจน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการปรับค่าแรงงานครั้งนี้ประเทศเพื่อนบ้านจะได้รับค่าจ้างเพิ่มอีกปี ละ 1.2 แสนล้านบาทต่อปี จากแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยที่มีอยู่ประมาณ 4 ล้านคน แต่เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย 1.5 ล้านคน เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาง่ายมากคือต้องทำใจ ดังนั้น ต้องจัดโครงสร้างงานใหม่ ต้องคิดใหม่โดยไม่ต้องไปสนใจเรื่องคนตกงาน การจ่ายโบนัสก็ต้องปรับใหม่ให้หันมาพิจารณาการจ่ายตามเคพีไอ (KPI)  หรือการวัดผลการทำงานตามประสิทธิภาพ ให้เอาเงินต่อเงินเป็นที่ตั้ง 

ด้านนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยคาเนตะ จำกัด ผู้ผลิตเสื้อผ้าส่งออก กล่าวว่า การปรับค่าแรงครั้งนี้ทำให้ต้องปรับกระบวนการทำงานใหม่ทั้งหมด ด้วยการเริ่มต้นจากการผลิต ปรับราคาสินค้า เพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิต สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าให้มีความใกล้ชิดมากขึ้น และต้องการให้รัฐบาลเลิกหาเสียงด้วยการชูเรื่องค่าแรงงาน นอกจากนี้ บริษัทก็ได้หันมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะมีหลายคนกล่าวว่าปีนี้เผาหลอกปีหน้าเผาจริง สุดท้ายก็ต้องเพิ่มมูลค่าสินค้า และต้องประคับประคองให้ผ่านพ้นปีนี้ไปให้ได้

"นโยบายการลดภาษีนั้น ไม่ได้เอื้อต่อเอสเอ็มอี บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์มากกว่า ควรจะมีการจัดระดับของเอสเอ็มอีในการจัดเก็บภาษี รัฐบาลควรให้สิทธิกับเอสเอ็มอีมากกว่านี้ เพราะประเทศไทย 90% คือเอสเอ็มอี แต่พอได้เป็นรัฐบาลก็มองว่าเอสเอ็มอีเป็นภาระของรัฐบาล" นายสุวรรณชัยกล่าว

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในงานเดียวกันว่า การปรับค่าแรงช่วงที่ผ่านมา 10 ปีถือว่าเป็นการปรับที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ 7.5-10% และที่ผ่านมาการปรับแต่ละครั้งมักอิงกับอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก ไม่ได้พิจารณาจากประสิทธิภาพ เมื่อหันมาพิจารณาจากศักยภาพของแรงงานไทย พบว่าศักยภาพแรงงานไทยดีขึ้นกว่าอดีตถึง 27% ดังนั้นการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำมาเป็น 300 บาท ครั้งนี้ย่อมมีผลกระทบต่อปัจจัยบวกและปัจจัยลบแน่นอน 

ปลัดแรงงาน กล่าวว่า ด้านปัจจัยบวก ในแง่ของค่าแรงงานดีขึ้นแน่นอน เพราะมีรายได้เพิ่ม มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แรงงานก็มีกำลังซื้อเพิ่ม สินค้าในประเทศก็มียอดขายเพิ่ม มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่ม ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่ม เพราะขายสินค้าได้มากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยบวกในการกระตุ้นให้แรงงานเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สำหรับปัจจัยลบคือต้นทุนค่าแรงงานของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งครั้งนี้ได้มีการปรับค่าแรงงานขึ้น 40% เพราะฉะนั้นต้นทุนแรงงานจึงเพิ่มสูงมาก 

ปลัดแรงงาน กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในเบื้องต้นนั้น จะเสนอเป็นแพ็กเกจให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในเร็วๆ นี้ ประกอบด้วยการลดภาษีนิติบุคคล, ลดอัตราเงินสมทบของประกันสังคม จาก  5% ให้เหลือ 4%,ให้เอสเอ็มอีกู้ดอกเบี้ยต่ำนาน 3 ปี จาก 4 แบงก์, ให้เงินกู้ดอกเบี้ย 0.1% นาน 4 ปี เพื่อนำไปอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, สามารถนำค่าใช้จ่ายการอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า, ให้เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ในวงเงิน 2 หมี่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องหลังปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ และนำเงินไปซื้อเครื่องจักร, ให้นำค่าจ้างที่เพิ่มไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ และเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีขายเครื่องจักรเก่าได้โดยให้นำมาหักเป็นค่าใช้จ่าย ได้ 100% ในคราวเดียว โดยไม่ต้องทยอยบันทึกบัญชีเหมือนในอดีต ซึ่งคุณสมบัติของเอสเอ็มอีคร่าวๆ ที่จะได้รับสิทธิดังกล่าว ต้องเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี  

ด้านนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีที่บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) มีแผนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศพม่า เนื่องจากมีค่าจ้างต่ำกว่าไทยว่า การย้ายฐานการผลิตในกิจการที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยเฉพาะพวกสิ่งทอ ได้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะผู้ประกอบการรู้ว่าเมื่อมีการยกระดับค่าจ้างย่อมได้รับผลกระทบ 

นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้สถานประกอบการเอสเอ็มอี   เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังและน่าเป็นห่วง แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการดูแลเพื่อไม่ให้สถานการณ์รุนแรง ขณะเดียวกัน รมว.แรงงาน ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบมาสะท้อนปัญหาและแจ้งความ ต้องการในสิ่งที่อยากให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนเมษายนนี้ กสร.จะส่งพนักงานตรวจแรงงานไปทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตาม กฎหมายในการจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่ปรับเพิ่ม หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคมจะเป็นการตรวจว่านายจ้างได้ปฏิบัติตามหรือไม่ หากไม่ปฏิบัติตามก็จะมีการออกหนังสือเตือนภายใน 30 วัน เมื่อครบกำหนดนายจ้างยังไม่มีการจ่ายค่าจ้างตามอัตราใหม่ ก็จะดำเนินคดีตา มพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

"ในเดือนมิถุนายนนี้ จะเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จึงขอเตือนนายจ้างว่าให้ปฏิบัติตาม แต่หากมีผลกระทบก็สามารถแจ้งประสานกับเจ้าหน้าที่ เพื่อสะท้อนปัญหามายังส่วนกลางในการวางมาตรการแก้ปัญหาได้" อธิบดี กสร.กล่าว

ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงการรับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปรับ ค่าจ้าง มายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของภาคแรงงานทั้ง 9 ศูนย์ว่า ตลอดทั้งวันศูนย์แต่ละแห่งมีผู้ใช้แรงงานโทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ของศูนย์จะทำการรวบรวมข้อมูลทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างที่ ร้องเรียนเข้ามาว่ามีรายละเอียดอย่างไร จากนั้นจะทำการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งไปให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดำเนินการ ตรวจสอบ 

"ส่วนใหญ่ผู้ใช้แรงงานที่โทรศัพท์เข้ามาที่ศูนย์ จะร้องเรียนนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง 300 บาท บางรายเล่าว่าถูกบังคับให้เซ็นหนังสือยินยอม รับค่าจ้างตามที่บริษัทกำหนด โดยนำสวัสดิการต่างๆ มารวมกับค่าจ้างให้ได้ 300 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง แต่เพราะถูกข่มขู่ ทำให้บางคนกลัวจะถูกไล่ออก จึงยอมเซ็น" นายชาลีกล่าว 

ด้านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนผลกระทบปรับค่าจ้าง ที่กระทรวงแรงงาน ตลอดทั้งวันมีคนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามที่หมายเลข 0-2232-1137 เกือบ 20 สาย แต่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลส่วนตัวไว้เพียง 10 ราย และมีเข้ามาสอบถามด้วยตัวเอง 3 ราย โดยทุกสายเป็นการสอบถามข้อมูลปรับค่าจ้างว่าสามารถนำค่าจ้างรวมกับค่าอะไร ได้บ้าง บางรายเจ้าของบริษัทให้สอบถามถ้าไม่ปรับมีความผิดอย่างไรบ้าง ซึ่งศูนย์มีเจ้าหน้าที่ 2 คนคอยชี้แจง

 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์