จารุพงศ์"ลั่นรถไฟฟ้า 10 สายต้องเกิดในรัฐบาลนี้ หรือภายใน 4 ปี สั่ง รฟม.ตั้งคณะทำงาน 10 กลุ่มแยกดูแต่ละสาย แจงราคาเดียว 20 บาท รอ 10 สายเกิดก่อน จ่อคิวสร้างอีก 3 สายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สีชมพู มีนบุรี-แคราย และสีส้ม ตลิ่งชัน-มีนบุรี เล็งพัฒนาพื้นที่เส้นทางรถไฟฟ้า จีบ กคช.ผุดบ้าน-คอนโด หรือลานจอดรถ สร้างรายได้เพิ่ม
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
นายจารุพงศ์กล่าวว่า ได้สั่งการให้ รฟม.ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 10 กลุ่ม เพื่อผลักดันโครงการรถไฟฟ้า 10 สายให้สามารถลงนามในสัญญาได้ทั้งหมดในรัฐบาลชุดนี้ หรือภายในระยะเวลา 4 ปี โดยคณะทำงานทั้งหมดจะต้องทำงานอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกัน คือต้องพิจารณาในทุกเรื่องตั้งแต่การออกแบบก่อสร้าง ควบคุมการก่อสร้าง การเดินรถ รวมถึงการศึกษาแนวทางการให้บริการรถไฟฟ้าในราคา 20 บาทตลอดสาย ทั้งนี้ ได้ให้ รฟม.นำรายละเอียดการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าทั้งหมดเสนอกระทรวงการคมนาคมเพื่อพิจารณาในสัปดาห์หน้า
"คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาจะต้องแบ่งหน้าที่กันดูแลรถไฟฟ้าแต่ละสาย หรือหากเห็นว่าการตั้งคณะทำงาน 10 กลุ่มมากเกินไป อาจตั้งขึ้นมา 5 กลุ่ม โดยให้หนึ่งกลุ่มรับผิดชอบดูแลรถไฟฟ้า 2 สาย ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานเร็วขึ้น ยอมรับว่าการเร่งผลักดันให้รถไฟฟ้าทั้งหมดลงนามได้ภายในระยะเวลา 4 ปี ถือเป็นเรื่องยาก ดังนั้น คณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นมาต้องช่วยกันดำเนินการ" นายจารุพงศ์กล่าว
นายจารุพงศ์กล่าวว่า ต้องการให้ รฟม.ไปพิจารณาการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยรอบพื้นที่รถไฟฟ้า
เพราะเป็นพื้นที่มีศักยภาพสูงสามารถสร้างมูลเพิ่มได้เป็นจำนวนมาก อาจจะร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) สร้างบ้าน คอนโดมิเนียม หรือที่จอดรถต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับ รฟม.อีกทางหนึ่ง โดยการดำเนินการลักษณะดังกล่าวในหลายประเทศมีการดำเนินงานจนประสบความสำเร็จมาแล้ว
นายจารุพงศ์กล่าวว่า สำหรับรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในด้านเทคนิคสามารถดำเนินการได้แต่ต้องให้มีรถไฟฟ้าครบทั้ง 10 สายก่อน
เพราะจะเกิดการเชื่อมต่อของผู้โดยสาร ทำให้รถไฟฟ้าสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่หากจะดำเนินการในขณะนี้ต้องมีการจ่ายชดเชยให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะไม่เป็นธรรมกับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ใช้บริการ
นายรณชิต แย้มสอาด รักษาการผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าที่จะดำเนินเป็นลำดับต่อไป คือ
รถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยได้ส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว หลังจากนั้น จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลำดับถัดไปจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงมีนบุรี-แคราย ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะใช้รูปแบบของรถไฟฟ้ามวลเบา (โมโนเรล) หรือรถไฟฟ้าธรรมดา คาดว่าต้นปี 2556 จะลงนามในสัญญาได้ หลังจากนั้น จะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ที่จะดำเนินการต่อไป