เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 ปีครั้งใหม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์ฯ
เงินบาทร่วงลงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 ปีครั้งใหม่ที่ 35.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ หลังตลาดเพิ่มน้ำหนักการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนก.ย. หลังจากถ้อยแถลงของเฟดจากการประชุมวันที่ 28-29 ก.ค. ระบุถึงการทยอยฟื้นตัวดีขึ้นของตลาดแรงงานสหรัฐฯ (แม้เฟดจะยังไม่ส่งสัญญาณถึงกำหนดเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างชัดเจนก็ตาม) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยบวกจากข้อมูลจีดีพีของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 2/58
สำหรับในวันศุกร์ (31 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับ 34.91 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ก.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.00-35.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดน่าจะติดตามข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.ค. รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ยอดสั่งซื้อของโรงงาน และการค้าระหว่างประเทศเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจติดตามผลการประชุมกนง. (5 ส.ค.) ดัชนี PMI เดือนก.ค. ของหลายๆ ประเทศ และสัญญาณที่สะท้อนการเจรจาระหว่างกรีซกับกลุ่มเจ้าหนี้
ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ปรับฟื้นตัวขึ้นจากแรงซื้อทางเทคนิค มาปิดที่ระดับ 1,440.12 จุด เพิ่มขึ้น 0.14% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 18.10% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 38,556.66 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 595.18 จุด ลดลง 2.32% จากสัปดาห์ก่อน
ตลาดหุ้นไทยปรับร่วงลงในช่วงต้นสัปดาห์ โดยได้รับแรงกดดันจากการที่ตลาดหุ้นจีนปรับร่วงลงกว่า 8%
ท่ามกลางความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้ง ข้อมูลการส่งออกไทยที่น่าผิดหวัง ก่อนที่ดัชนีจะฟื้นขึ้นในวันพุธ จากแรงซื้อทางเทคนิค หลังดัชนีปรับลดลงอย่างมากในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในวันศุกร์ โดยมีแรงซื้อหุ้นกลับจากนักลงทุน นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคาร และพลังงาน
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวต้านที่ 1,460 และ 1,475 จุด ตามลำดับ
ขณะที่แนวรับอยู่ที่ 1,420 และ 1,400 จุด สำหรับประเด็นติดตามในประเทศ ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย ทั้งนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะมีการรายงานออกมา อาทิ เครื่องชี้ภาคการผลิต (Markit PMI) ยอดสั่งซื้อของโรงงาน และการจ้างงานนอกภาคเกษตร นอกจากนี้ ยังต้องติดตามรายงานดัชนี PMI ในยูโรโซนอีกด้วย