ค้าปลีก "ถอดใจ" ไร้ปัจจัยบวกคาดทั้งปีโตเต็มที่ 3% ทุกเซ็กเมนต์พลาดเป้ายกแผง แต่ "ซูเปอร์มาร์เก็ต" แหวกวิกฤตโตสวน 8.5% หลังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่สัมฤทธิผล-หนี้ครัวเรือนสูง หวังเร่งทัวริสต์-ลูกค้ากลุ่มบน/กลางให้จับจ่ายต่อเนื่อง ด้าน "เทสโก้" เตรียมถอดโมเดลร้านสะดวกซื้อ "365"
ความหวังการขยายตัว 6.3% ของตลาดค้าปลีกมูลค่า 3 ล้านล้านบาทในปีนี้นั้นเป็นอันต้องปิดฉากลงอย่างไม่ต้องสงสัยเมื่อพลังซื้อและเทศกาลจับจ่ายที่คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังปลายปีนั้นจะเข้ามาช่วยกลับโดนกระหน่ำด้วยสารพัดปัจจัยลบหนี้ครัวเรือนภัยแล้ง ส่งออก การลงทุนของภาครัฐที่ไม่เห็นผล ล่าสุด "ค้าปลีก" ได้ลดการเติบโตทั้งปีเหลือเพียง 3-3.2% หลังตัวเลขครึ่งปีแรกทำได้เพียง 2.8%
"ค้าปลีก" โตแผ่ว 3%
นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจค้าปลีกครึ่งปีหลังยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว คาดว่าทั้งปีจะเติบโต 3-3.2% จากมูลค่า 3 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัจจัยลบทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อของผู้บริโภคระดับล่างลดลง รวมถึงปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจค้าปลีกยังคงเดินหน้าลงทุนตามแผนการขยายสาขาที่วางไว้ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตและสินค้ากลุ่มอาหารที่ยังคงขยายตัวได้ดีจากกำลังซื้อของตลาดกลางและบนที่ยังขับเคลื่อนต่อไปได้
ทั้งนี้ภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเติบโตเพียง 2.8% จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายลง โดยเฉพาะผู้บริโภคระดับล่าง เห็นได้จากการเติบโตของค้าปลีกประเภทต่าง ๆ ที่ขยายตัวได้ไม่เต็มที่ อาทิ คอนวีเนียนสโตร์เติบโต 2.8% ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 1.8% ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ 3% กลุ่มร้านค้าเฉพาะทางเติบโต 2.7% แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตกลับขยายตัวมากถึง 8.5%
"การใช้กลยุทธ์ราคา กระตุ้นกำลังซื้อคนระดับล่างยังคงเป็นโปรโมชั่นที่ธุรกิจค้าปลีกยังคงทำต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ประกอบการค้าปลีกจะสร้างความแตกต่างกิมมิกทางการตลาด สร้างอีเวนต์ เพื่อดึงลูกค้ามากกว่า"
"ความหวัง" กลาง-บน-ทัวริสต์
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตน์พันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคระดับล่าง ดังนั้น การจัดโปรโมชั่นราคา เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของคนกลุ่มนี้จึงไม่ค่อยเป็นผล ขณะที่ผู้บริโภคระดับกลางถึงบน รวมถึงนักท่องเที่ยว ถือเป็นกลุ่มความหวังของธุรกิจค้าปลีกช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยต้องกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้เกิดการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะการใช้เงินในต่างจังหวัด เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินมากขึ้น
"คนระดับกลางถึงบน รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วย เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และพร้อมจะจับจ่ายอยู่แล้ว ไม่ต้องจัดโปรโมชั่น หรือแคมเปญอะไรมากระตุ้นมากมายและกลายเป็นกลุ่มสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม และธุรกิจค้าปลีกในครึ่งปีหลังนี้ เนื่องจาก 60% ของกลุ่มผู้บริโภคไทยปัจจุบันมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน"
ทั้งนี้ กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตยังคงเติบโตได้เนื่องจากกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบนยังจับจ่าย ขณะที่กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตและคอนวีเนียนสโตร์เติบโตลดลงเพราะฐานลูกค้าหลักระดับล่างมีปัญหาหนี้ครัวเรือนทำให้กระทบต่อกำลังซื้อซึ่งสินค้ากลุ่มแฟชั่นก็ยังสามารถรักษาการเติบโตได้เพราะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามา แต่ขณะที่กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า มีอัตราการเติบโตลดลงอย่างชัดเจนเนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและเป็นธุรกิจแรก ๆ ที่ลูกค้าจะเลือกหยุดซื้อเมื่อมีปัญหากำลังซื้อ
ผู้อำนวยการบริหารสมาคมค้าปลีกไทย ฉายภาพเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนจีดีพีของไทย มาจาก 4 ปัจจัย ถ้าส่งออก นำเข้า การลงทุนของภาคเอกชน ชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจกำลังซื้อที่หดตัวลง เหลือเพียง "ภาครัฐ" เท่านั้นที่จะกลายเป็นเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้ออกมาโดยเร็วให้เกิดการจ้างงานเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและเศรษฐกิจของประเทศ