วัลลภติงกสทช.ใช้งบฯเกินจริง จี้เปิดข้อมูลให้สาธารณชนทราบ

วัลลภติงกสทช.ใช้งบฯเกินจริง จี้เปิดข้อมูลให้สาธารณชนทราบ


21 พ.ย. 57 เมื่อเวลา 10.10 น.ที่อาคารรัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ครั้งที่ 25/2557 โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  เป็นประธานดำเนินการในการประชุม  โดยมีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญคือ กระทู้ถามทั่วไปเรื่อง การตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. เป็นผู้ตั้งถาม ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พ.ศ.2557 ข้อที่ 195 โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ได้แจ้งว่าจะใช้เวลาถามตอบได้ไม่เกิน 30 นาที และผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มาตอบกระทู้คือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เนื่องนายกรัฐมนตรี ติดภารกิจสำคัญ

โดยนายวัลลภ ได้ตั้งกระทู้ถามว่า จากการที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่ผลการดำเนินงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ได้ตรวจสอบการใช้งบประมาณของ กสทช. ในปีงบประมาณ 2556 พบว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณเกินความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างที่ปรึกษา จำนวน 329.45 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศจำนวน 250.26 ล้านบาท ค่ารับรองจำนวน 7.52 ล้านบาท อีกทั้งกระบวนการจัดสรรงบประมาณที่ให้สำนักงาน กสทช. มีอำนาจในการจัดทำงบประมาณ รายจ่ายประจำปีเพื่อเสนอคณะกรรมการ กสทช. อนุมัติ ถือว่าเป็นการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายต่างๆ ดังนั้น ตนจึงขอถามว่า รัฐบาลมีแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการจัดทำงบประมาณของสำนักงาน กสทช. ให้ผ่านการตรวจสอบและอนุมัติจากรัฐสภา โดยให้หน่วยงานต่างๆ ที่ชำนาญด้านงบประมาณตรวจสอบให้ความเห็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณหรือไม่ และรัฐบาลจะมีมาตรการเร่งด่วนในการตรวจสอบและควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงาน กสทช. ในปัจจุบันหรือไม่

ต่อมา นายวิษณุ ได้ตอบคำถามว่า สำนักงาน กสทช. ได้ตั้งขึ้นมาตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยมีความตั้งใจที่จะให้ สำนักงานดังกล่าว ไม่มีฐานะเป็นส่วนราชการ ไม่อยู่ภายใต้บังคับใดๆ ของรัฐบาล ถือเป็นความตั้งใจที่จะให้ กสทช. เป็นอิสระเอกเทศในการดำเนินการใดๆ แม้แต่การตั้งงบประมาณเพื่อให้สามารถอนุมัติงบด้วยตนเอง โดยรายได้จาก กสทช. มีเงินรายได้ในแต่ละปีมากถึง 5,000 - 6,000 ล้านบาท โดยงบประมาณรายจ่ายของ กสทช. มีอยู่ 3 ส่วน คือ ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ซึ่งมีประมาณ 1,300 คน เป็นจำนวนเงิน 1,200 ล้านบาท งบลงทุนจำนวน 2,400 ล้านบาท และที่เหลือเป็นงบบริหารองค์กร ซึ่งตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ. กสทช.  รัฐบาลไม่สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณได้ โดยอาจจะมีวิธีเดียวที่จะตรวจสอบงบประมาณของ กสทช.ได้ก็คือ ตามมาตรา 66 ที่ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินให้แก่สำนักงาน กสทช. ให้สำนักงาน กสทช. เสนองบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณที่ขอความ สนับสนุนต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปของสำนักงาน กสทช. ไว้ในร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ในการนี้คณะรัฐมนตรีอาจทำความเห็นเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณของสำนักงาน กสทช. ไว้ในรายงานการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมด้วยก็ได้ และในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาอาจขอให้เลขาธิการ กสทช. เข้าชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณาได้ แต่ในกรณีดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งกสทช.คงรู้ว่ามีปฏิกิริยาจากสังคมว่าทำไมงบประมาณ กสทช.ไม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ทั้งนี้เคยหารือกับสำนักงบประมาณว่าจะทำอย่างไรได้ให้งบประมาณกสทช.เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อตรวจสอบได้ ซึ่งได้รับการยืนยันว่ากรรมาธิการฯ ไม่มีอำนาจตรวจสอบ หรือเชิญมาสอบถามก็ไม่มีผล แต่เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบงบประมาณ กสทช. และรายงานต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบแล้ว และในอนาคตอาจจะแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดการตรวจสอบและความโปร่งใส ทั้งนี้เจ้าหน้าที่และกรรมการ กสทช. ก็ไม่สบายใจและอยากให้มีการแก้ไขกฎหมายการจัดสรรรายได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้  ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 74 ที่ระบุว่า ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ กสทช. ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภา

หลังจากนั้น นายวัลลภ กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรกำกับให้กสทช.ปฏิบัติตามระเบียบกสทช. โดยการเปิดเผยข้อมูล การใช้จ่ายงบประมาณให้สาธารณชนทราบ เพื่อให้มีการตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องนี้ไม่เคยมีการเปิดเผย และอยากให้มีการควบรวมบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) หรือกสท. กับบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ให้เป็นหน่วยงานเดียว และให้ยกเลิก กสทช. โดยให้องค์กรที่มีการยุบรวมจาก กสท.และทีโอที ทำหน้าที่ให้บริการแทน และหากไม่มีการยุบ กสทช.นั้น อาจทำให้ กสท.และทีโอที ล้มละลายก็ได้   ซึ่งนายวิษณุก็ตอบว่า หากจะยุบ กสทช.แล้วนั้น ก็อาจจะมีองค์กรใหม่ที่จะสืบทอดปัญหาของ กสทช.ไปเรื่อยๆ ดังนั้น ขณะนี้อยู่ในช่วงของการปฏิรูป และทาง กสทช. ก็รับทราบปัญหามาโดยตลอด ซึ่งแก้จะได้เร่งแก้ไขในโอกาสต่อไป


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์