ยกระดับมาตรการเป็นขั้นรุนแรง ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่รายวัน เพื่อตรวจสอบผู้ค้าสลากฯ หากพบว่าผู้ค้าสลากฯ ขายสลากฯ เกินกว่าราคาควบคุมไว้ที่ 90 บาท พบปรับทันที
พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า สำหรับการออกรางวัล 1 พ.ย.นี้
สำนักงานสลากฯ ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสลากฯขายเกินราคาเป็นขั้นรุนแรง โดยประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่รายวัน เพื่อตรวจสอบผู้ค้าสลากฯ หากพบว่าผู้ค้าสลากฯ ขายสลากฯ เกินกว่าราคาควบคุมไว้ที่ 90 บาท จะให้ดำเนินการปรับตาม พ.ร.บ.สลากฯ พ.ศ.2517 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาททันที ซึ่งเชื่อว่าการใช้กฎหมายในครั้งนี้จะช่วยให้ราคาปรับลดลงตามราคาที่ควบคุม ไว้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สำนักงานสลากฯ ได้ดำเนินมาตรการขึ้นทะเบียนผู้ค้าสลากฯ และการ ปั๊มสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านขวาสีน้ำเงินบนสลาก
เพื่อให้ทราบว่า สลากดังกล่าวเป็นสลากฯของผู้ค้ารายย่อย ที่ต้องนำไปขายเองในราคาที่ควบคุมไว้ที่ 90 บาท หากพบว่า ผู้ค้าสลากฯ ขายสลากฯ เกินกว่าราคาควบคุมหรือนำสลากฯ ไปรวมชุดก็จดชื่อ เพื่อเรียกให้ผู้ค้ามารับทราบ และหากกระทำผิดเป็นครั้งที่ 2 ก็จะยึดโควตาคืนทันที แต่มาตรการดังกล่าวยังพบว่ามีการขายเกินราคาควบคุมไว้ โดยขายอยู่ที่ใบละ 110 บาท ประกอบกับการนำสลากฯไปรวมชุดต่างสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำให้สำนักงานสลากฯ จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.สลากฯ พ.ศ.2517
"สำนักงานสลากฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ตรวจสอบการขาย สลากฯ ทุกพื้นที่ หากพบว่าผู้ค้าสลากฯ รายใด ขายสลากฯเกินราคาที่ควบคุมไว้ที่ 90 บาท ก็สามารถจับและปรับตามกฎหมายได้ทันที เพราะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.สลากฯ พ.ศ.2517 และเป็นการกระทำผิดซึ่งหน้าต่อเจ้าพนักงาน"
สำหรับวันที่ 30 ต.ค. สำนักงานสลากฯ จะหารือ ถึงแนวทางแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ พ.ศ.2517 แบ่งเป็น 3 เรื่องหลัก
ทั้งวัตถุประสงค์ ที่จะกำหนดว่าควรมีสลากฯ ประเภทใดบ้าง การจัดสรรรายได้และการนำเงินไปใช้จ่าย เพื่อดูแลสังคมของสำนักงานสลากฯ โดยจะนำ 4 ร่างที่เคยเสนอของผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการ ที่เสนอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ พ.ศ.2517 ประกอบด้วย ร่างของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง สมัยปี 49, ร่างของนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ปี 50, ร่างของนายไชยา พรหมา อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงินการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ปี 56 และร่าง พ.ร.บ.กิจการสลากเพื่อสังคม ของ นายมณเฑียร บุญตัน สว.สรรหา ปี 56 มาประกอบการพิจารณา เพื่อประเมินถึงข้อเสนอต่างๆ และนำมาปรับปรุงไว้ในการแก้ไขกฎหมาย เพราะต้องการให้การแก้ไข พ.ร.บ.ครั้งนี้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย